18 เม.ย. 67 – รองประธานกมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา เผย แนวทางการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กรอบจริยธรรม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน   

image

            ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวในรายการเกาะติดวุฒิสภา ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ว่าวิทยาศาสตร์ คือความรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมถึงกระบวนการประมวณความรู้เชิงประจักษ์ โดยคำนึงถึงเหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ ทั้งนี้ความรู้มีการศึกษาซ้ำ ๆ มาเป็นระยะเวลานานจนตกผลึกเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เช่น วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จะเห็นว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ส่วนเทคโนโลยี คือกระบวนการใช้ความรู้นำไปสู่การปฏิบัติและใช้ประโยชน์ เช่น เทคโนโลยีในด้านการผลิต ที่เริ่มจากวัตถุดิบไปสู่การแปรรูปจนเกิดเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ด้านการเกษตรสามารถพัฒนาสายพันธุ์ จนนำไปสู่การสกัดและเกิดเป็นผลิตภัณฑ์และเกิดการค้าขาย และที่เห็นชัดเจนที่สุด คือด้านการแพทย์ มีการพัฒนาความรู้จนได้วัคซีนสำหรับใช้รักษาโรค หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาจากตัวเครื่องขนาดใหญ่ เหลือเครื่องขนาดเล็กในปัจจุบัน ดังนั้นจะเห็นว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดเป็นกระบวนการจากการใช้ความรู้มาวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเกิดความก้าวหน้า นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทุกมิติ

         ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 (The 148th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 23 - 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้มีส่วนร่วมในคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความพยายามยกร่างกฎบัตรว่าด้วยจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นเรื่องสันติภาพและประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งประเทศสมาชิก IPU ส่วนใหญ่ให้ความตอบรับเป็นอย่างดีโดยกฎบัตรดังกล่าวจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยดำเนินการภายใต้กรอบของจริยธรรม

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม / ข่าว/เรียบเรียง 

ขอบคุณข้อมูลและภาพ จากเพจเฟซบุ๊กวุฒิสภา  

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ