18 เม.ย. 67 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับการยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.การเรียกของคณะ กมธ.ของ สส. และ สว.จาก นายรังสิมันต์ โรม ประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ หวังลดช่องว่างการดำเนินงานนิติบัญญัติในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากฝ่ายบริหาร เพิ่มโทษรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ไม่เข้าตอบชี้แจง

image

        นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับการยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติการเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.การเรียกของคณะ กมธ.ของ สส. และ สว.) จาก นายรังสิมันต์ โรม ประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ที่ประกอบด้วย สส.พรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านซึ่ง นายรังสิมันต์ ระบุว่า จากการทำงานของตนและคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะของสภาผู้แทนราษฎรยังประสบปัญหา หลายครั้งที่การใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการทำหน้าที่กรรมาธิการตรวจสอบติดตามการทำงานของรัฐบาล ยังประสบปัญหาจากการที่ฝ่ายบริหารผู้รับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ โดยตรงไม่มาตอบชี้แจงในประเด็นที่กรรมาธิการเชิญเข้ามาให้ข้อมูล แต่ทำการมอบหมายผู้ใต้บังคับบัญชา ข้าราชการผู้ทำหน้าที่ มีการมอบหมายต่อ ๆ กัน กระทั่งผู้เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้โดยตรง ถือเป็นอุปสรรค และปัญหาต่อการทำงานของกรรมาธิการ กลายเป็นกรรมาธิการต้องใช้พื้นที่ผ่านสื่อมวลชนขอความร่วมมือไปยังฝ่ายบริหารให้เข้ามาชี้แจง

        นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายนี้จะเป็นการสร้างกติกาที่ช่วยลดช่องว่างการทำงานระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยหลักการจากกฎหมายเดิม หากกรรมาธิการเชิญบุคคลเข้ามาชี้แจง แต่ไม่มาตามหนังสือเชิญ จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา แต่กฎหมายที่เสนอนี้จะเปลี่ยนแปลงแบ่งฐานความผิดต่อผู้ไม่มาชี้แจงออกเป็น 2 ลักษณะ หากเป็นรัฐมนตรีจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีความผิดในทางวินัย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการใช้คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการไม่ใช่การใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือการกลั่นแกล้ง เพราะผู้ใช้คำสั่งดังกล่าวหากเป็นไปโดยไม่ชอบย่อมจะมีความผิดเช่นกัน ขอยืนยันการเสนอว่าเป็นไปเพื่อให้การทำหน้าที่ของกรรมาธิการออกมาดีที่สุด และเป็นร่างกฎหมายที่ปูทางให้การทำงานของกรรมาธิการในสภาชุดต่อ ๆ ไป สามารถทำงานได้อย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา

        ด้าน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่าการยื่นเสนอร่างกฎหมายนี้ถือเป็นการสะท้อนปัญหาในการทำหน้าที่ของฝ่ายบัญญัติ ในฐานะที่ตนเคยเป็นประธานคณะกรรมธิการพัฒนาการเมืองฯ พบว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต่อ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของ สส. สว. ที่คณะกรรมาธิการไม่คิดว่าจะใช้พร่ำเพรื่อแต่เพื่อต้องการคำตอบจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรง แต่กลับไม่เข้ามาชี้แจง ส่งผลให้การทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของกรรมาธิการไม่สามารถเดินหน้าได้ กลายเป็นปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกัน ตนเห็นว่าการร่วมเสนอกฎหมายนี้ของ สส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นภาพที่ดีในการทำงานร่วมกันในกรรมาธิการและเห็นว่าการเสนอกฎหมายเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการอย่างชัดเจน เนื่องจากเมื่อทำหน้าที่แล้วจะเห็นปัญหาในเชิงระบบ พร้อมเผยว่า ยังมีร่างกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันซึ่ง นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทยและคณะยื่นเสนอไว้ มีเพียงรายละเอียดที่ต่างกันเล็กน้อยในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐในบางมาตรา จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการนำไปพิจารณาพร้อมกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ