18 เม.ย.67-  พลเรือโท สนธยา สมาชิกวุฒิสภา ระบุ ประชาชนยังมีความรู้และเข้าใช้บริการภาครัฐ ผ่านระบบการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนน้อย เตรียมเชิญหน่วยราชการที่เกี่ยวของ หารือแนวทางการแก้ไข เร่งรัดขับเคลื่อนให้การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์หลักในการให้บริการประชาชน

image

    พลเรือโท สนธยา น้อยฉายา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวถึงประเด็น “พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565” ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกฎหมายกลาง เป็นหลักในการขจัดปัญหาและอุปสรรคทางข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ กับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมตลอดทั้งการติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น ยังมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ครอบคลุมตลอดทั้งระบบนิเวศ (ecosystem) ตั้งแต่การยื่นเรื่อง รับเรื่อง การติดต่อราชการ การส่ง การรับเอกสาร การแสดงเอกสารหลักฐานการจัดทำและตรวจสอบฐานข้อมูล การอนุมัติ อนุญาต ขอจดทะเบียน ขอขึ้นทะเบียน ขอจดแจ้ง ขอรับรอง ขออุทธรณ์ ขอรับบริการสวัสดิการ ขอทำสำเนาเอกสารต่าง ๆ เว้นแต่เป็นกรณีเฉพาะตน เช่น การสมรส การหย่า การทำบัตรประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดภาระการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ ลดระยะเวลาในการติดต่อราชการ และลดการเดินทาง ลดการสัมผัส และลดคอร์รัปชัน รวมทั้งลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพแก่การปฏิบัติราชการของภาครัฐ อันเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย และมติของคณะรัฐมนตรี


คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามกฎหมาย ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม สงขลา และจังหวัดเชียงราย พบว่า ประชาชนยังมีความรู้และเข้าใช้บริการภาครัฐ ผ่านระบบการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนน้อย ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการ ให้จัดทำแผนงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายภายในจังหวัด และรายงานความคืบหน้าในการประชุมประจำเดือนของจังหวัดทุกเดือนเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินการ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการร่วมกันในระดับจังหวัด โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดแผนงานเร่งรัดขับเคลื่อนให้การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นทางหลักในการให้บริการประชาชน โดยจะเชิญ 4 หน่วยงาน ผู้รับผิดชอบหลักตามกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA)  สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร. หรือ DGA) และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ เพื่อกำหนดแผนงานในการขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกัน พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะช่วยส่งเสริมให้การขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด. หรือ DEPA) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อีกทั้ง คณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดแผนการลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลและถอดบทเรียนความสำเร็จขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการให้บริการประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างโดดเด่น เพื่อรวบรวมข้อมูลวิธีการดำเนินการที่จะเป็นประโยชน์ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นได้ใช้เป็นตัวอย่างในการดำเนินการ และเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล เพื่อกำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนดำเนินการต่อไป

ณรารัฏฐ์  โพธินาม / ข่าว 
สำนักประชาสัมพันธ์ สนง.เลขาธิการวุฒิสภา / ข้อมูล ภาพ 
 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ