19 เม.ย. 67 - รัฐสภา จัดกิจกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา หวังให้เกิดการปฏิรูปอย่างรอบคอบ เป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของประเทศที่ได้รับการยอมรับและสอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง

image

          นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา โดยมีว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ผู้บริหาร และข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกิจกรรม จำนวน 800 คน ณ ห้องประชุมสัมมนา ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
          ประธานรัฐสภา กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สถาบันนิติบัญญัติเพื่อประชาชน” มีใจความสำคัญว่า สถาบันนิติบัญญัติ เป็นสถาบันทางสังคม ที่ได้รับการยอมรับ ทั้งในทางพฤตินัย นิตินัย และวัฒนธรรมแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ว่า เป็นสถาบันสูงสุดหนึ่งในสามสถาบันหลักของการปกครองประเทศ เป็นสถาบันที่ต้องกำหนดตนเอง ไม่มีใครมากำหนดให้ได้ ยกเว้นถูกอำนาจจากภายนอก การปฏิวัติ รัฐประหาร เข้ามาตัดรอนอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ให้ลดหายไปบางส่วน ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่า ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ตัวแทนประชาชน และข้าราชการรัฐสภาทุกคนที่ทำงานตอบสนองประชาชน รวมทั้งผู้สนใจ จะได้นำบทเรียน ทั้งข้อดีและข้อผิดพลาดในอดีต มาประกอบการพิจารณาในการจะกำหนดบทบาทหน้าที่ที่จะก้าวไปข้างหน้า ทั้งนี้ โลกเดินหน้า แต่หากเราอยู่กับที่นั้นเท่ากับเราถอยหลัง จึงต้องคิดว่าจะเดินอย่างไรให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เพื่อจะได้เกิดความมั่นใจ มีการใช้ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ องค์ประกอบด้านกายภาพ อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด บุคคลภายนอกจะมากำหนดไม่ได้ ต้องมาจากภายในองค์กร เพื่อความยั่งยืน ดังนั้น จึงต้องรู้จักตัวเราเอง เกิดการปฏิรูปอย่างรอบคอบ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากในและนอกองค์กร ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ไม่ใช่จะอ้างเรื่องระเบียบกฎหมายแล้วไม่ทำ ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้ มนุษย์เป็นคนสร้าง ถึงเวลาต้องแก้ก็สามารถแก้ได้ ซึ่งเชื่อว่าตราบใดที่ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร มีความสามัคคีจะทำงานได้อย่างมีความสุข และการทำงานด้วยความรัก ความทุ่มเท จะนำพาให้สถาบันนิติบัญญัติจะไปได้ไกลกว่านี้อย่างแน่นอน
          ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวรายงานถึงที่มาวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ตอนหนึ่งว่า สถาบันนิติบัญญัติ เป็นองค์กรที่มาจากประชาชน ผู้ที่มอบอำนาจผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสถาบันที่ส่งผลต่อความสุขความทุกข์ของประชาชน ซึ่งหากพิจารณาการดำเนินการของสถาบันนิติบัญญัติภายใต้กรอบกฎหมายที่บัญญัติมานานเกือบ 30 ปี พบว่าไม่สอดรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเริ่มทบทวนใน 3 เรื่องสำคัญ คือ ทบทวนงาน กำลังคน และงบประมาณ โดยจะต้องกลับมาพิจารณว่างานมีความเหมาะสมทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณกับผู้ปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าการปรับปรุงโครงสร้างของรัฐสภาในครั้งนี้ จะไม่มีใครต้องออกจากงาน อีกทั้งยังจะมีความก้าวหน้าในสายงานอย่างแน่นอน ส่วนการทบทวนเรื่องของงบประมาณนั้น เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้ตัดลดงบประมาณ และการบริหารงบประมาณก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นความรับผิดชอบต่อเงินภาษีของประชาชนต่างหาก ซึ่งบุคลากรของรัฐสภามีเจ้านาย คือ ประชาชน ทั้งนี้ ในการชุมระดับโลก มีการกล่าวว่า โลกบังคับให้เราต้องปรับตัว หากประเทศหรือองค์กรใด ไม่ก้าวสู่ดิจิทัล ไม่ก้าวสู่การรักษาสิ่งแวดล้อม ก็จะถูกลืมหรือเป็นภาระของสังคม และสุดท้ายเชื่อว่าหากเราสามารถปรับปรุงโครงสร้างได้สำเร็จ เราจะได้อยู่ในองค์กรที่ภาคภูมิใจ อยู่ในองค์กรที่เป็นความหวังของประชาชนอย่างแท้จริง 
          นอกจากนี้ ภายในกิจกรรม มีการบรรยายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ “ทำไมรัฐสภาไทยต้องเปลี่ยนแปลง” โดยรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนี่ง  /ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า /บรรณาธิการข่าว จาก The Standard ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน /ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของรายการในเครือ GoodDay Official และการพูดคุย หัวข้อ “การขับเคลื่อนองค์กรในบริบทที่ท้าทาย”  โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภา อีกทั้งมีการนำเสนอ “มุมมอง Road Map การปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา” จากประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา และประธานคณะอนุกรรมการศึกษาทบทวนหน้าที่ความรับผิดชอบและอัตรากำลังของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาในการสนับสนุนภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติ

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ