18 ก.ค.67 - สส.วีรภัทร พรรคก้าวไกล หนุนรัฐเว้นเก็บภาษีคุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ พร้อมขอ กทม.วางแนวทางสนับสนุนในส่วนรายได้ให้คงไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียว ป้องกันปัญหานายทุนกว้านซื้อที่ดิน ซ้ำรอยป่าทับลาน

image

            นายวีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดสมุทรปราการ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี หลังมีนโยบายจัดทำแผนพัฒนาทั้งบางกะเจ้า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.67 นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่คลองลัดโพธิ์ - คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่นำร่องในการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่จากการที่ตนลงพื้นที่ พบว่า ปัจจุบันยังมีประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกจำกัดสิทธิ์โดยกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกฎกระทรวงฉบับต่างๆ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาประชาชนทำหน้าที่แบกรับพื้นที่สีเขียวนี้เพื่อเป็นปอดของกรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการรักษาและคุ้มครองพื้นที่สีเขียวนี้มากเท่าที่ควร เนื่องจากที่ดินหนึ่งผืนจำเป็นต้องแบ่งที่ดินเพื่อปลูกบ้านร้อยละ 25 และแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียวตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 75 แต่จากกรณีการเก็บภาษีพื้นที่รกร้างในคุ้งบางกะเจ้า คือ พื้นที่สีเขียวตามประกาศคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประชาชนจึงใช้วิธีการปลูกพืชที่สามารถเลี่ยงภาษีที่ดินได้ตามกฎหมาย เช่น กล้วย ปาล์ม พืชกลุ่มหน่อไม้ เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชที่ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ อีกทั้งเป็นการทำลายพื้นที่สีเขียวอย่างรวดเร็ว
            ดังนั้น ตนในฐานะผู้แทนประชาชนในพื้นที่ จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอุดหนุนผ่านกระทรวงมหาดไทยโดยตรง หากเกรงว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดิน ในขณะเดียวกันได้เสนอให้กรุงเทพมหานคร หาแนวทางเข้ามาสนับสนุนในส่วนรายได้ หรือมีส่วนรับผิดชอบในด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับ Window tax ในต่างประเทศ โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากพื้นที่นั้น ถึงแม้ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ควรมีส่วนรับผิดชอบเพื่อคงไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนเมือง ในฐานะที่คุ้งบางกะเจ้าเป็น " ปอดของกรุงเทพ" พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลใช้บางกะเจ้าเป็นโมเดลสำคัญนำร่อง (แซนด์บ็อกซ์) สำหรับพัฒนาพื้นที่อื่นในลักษณะที่คล้ายกัน โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมและคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนในระยะยาวและไม่เกิดช่องโหว่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนฮุบที่ดินซ้ำรอยคดีป่าทับลาน โดยหลังจากนี้จะมีการยื่นเรื่องดังกล่าวเข้าคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อศึกษามาตรการเยียวยาเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น การทำ MOU ระหว่างท้องถิ่นกับชุมชน หรือการเพิ่มรายชื่อพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่ปลูกแล้วไม่ถูกตีความว่าเป็นพื้นที่รกร้าง เพื่อทำให้พื้นที่ถูกพัฒนาตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนสืบไป


อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ