นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ว่า ในปีที่ผ่านมาการผลักดันพัฒนาเครื่องยนต์เศรษฐกิจ (Growth Engine) ได้กลายเป็นหนึ่งในแนวทางมาตรการที่ประชาชนต่างติดตาม เนื่องจากสภาพการณ์ความถดถอยทางเศรษฐกิจที่ประเทศกําลังเผชิญอยู่เป็นระยะ โดยทีมวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า เศรษฐกิจ ASEAN 5 ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.6 เป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลกในปี 2025 แต่กลับพบว่าเศรษฐกิจไทยกลับเติบโตรั้งท้าย ซึ่ง GDP ของไทยในปีนี้ถูกลดการคาดการณ์เหลือร้อยละ 1.8 เท่านั้น สวนทางกับคํามั่นสัญญาของรัฐบาลที่เคยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมุ่งเป้าขับเคลื่อนพัฒนาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) โดยนโยบายที่พอจะเป็นรูปร่างบ้างเห็นแต่เพียงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินหมื่น และการขับเคลื่อนโครงการสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งโครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วนเป็นอย่างมาก ทําให้ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล จึงขอถามว่า ในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายใดบ้างที่มีความสอดคล้องไปกับการพัฒนาเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และรัฐบาลทบทวนนโยบายที่ผ่านมาและที่กําลังจะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ว่ามีความสอดคล้องกับการพัฒนาเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย
ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ชี้แจงว่า ในรัฐบาลปัจจุบันขอยืนยันว่า GDP มีการเติบโตเกินร้อยละ 3 มาทุกไตรมาส และคาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะมีการปรับเพิ่มประมาณการอีกอย่างมีนัยสำคัญ จากการฟื้นตัวของการผลิตและการบริโภค แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตสูงกว่าที่เคยเป็นมาตลอด 7 - 8 ปีที่ผ่านมา สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการกระจายเม็ดเงิน 10,000 บาทให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นต่อเนื่อง นำไปสู่การฟื้นตัวของ GDP ทั้งในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาและไตรมาส 1 ของปีนี้ การบริโภคที่ขยายตัวยังช่วยกระตุ้นภาคการลงทุนที่ซบเซามานาน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาเป็นบวกติดต่อกัน 2 เดือน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าบริโภค ส่วนอีกมาตรการ คือ การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 115,000 ล้านบาท เพื่อรับมือกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเงินลงทุนเหล่านี้จะกระจายครอบคลุมทุกจังหวัด
นอกจากนี้ ในด้านมาตรการทางการเงิน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระจายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารของรัฐ อาทิ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนทั้งในระบบและนอกระบบ โดยใช้กลไกของ PI Finance และธนาคารรัฐในการดึงหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือสังคมสูงวัย ด้วยการเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้สามารถผลิตได้มากขึ้นและมีรายได้ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการเพิ่มอัตราการเกิดเพื่อทดแทนแรงงานในอนาคต รวมถึงการดูแลด้านรายได้และสวัสดิการของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในด้านวิสัยทัศน์เศรษฐกิจระยะยาว รัฐบาลได้มองไกลถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ Financial Hub เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจทางการเงินของภูมิภาค ผ่านมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ยังมีแผนเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวโดยการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายจ่ายต่อหัว อาทิ การจัดกิจกรรมระดับโลกอย่าง Formula 1 และ Tomorrowland พร้อมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ควบคู่กับการพัฒนา Soft Power โดยดึงศักยภาพในท้องถิ่น เช่น ชุมชนและหมู่บ้าน มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาค พร้อมทั้งนำไปสู่การจ้างงานและการใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้น ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลมีโครงการสำคัญ อาทิ การพัฒนาท่าเรือภูเก็ตเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ท่าเรือสงขลาเพื่อขนส่งสินค้า และการรวมท่าเรือ B1 และ B2 ที่แหลมฉบัง รวมถึงการปรับปรุงระบบชลประทานขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรม
นายเผ่าภูมิ ย้ำว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์เชิงรุกที่ไม่ยึดติดกับงบประมาณประจำปี 3-4 ล้านล้านบาท เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองหาเงินใหม่จากการลงทุนทั่วโลก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งวางแผนเศรษฐกิจในทุกระยะ ทั้งระยะสั้นในการรับมือความเสี่ยงเฉพาะหน้า ระยะกลางในการวางโครงสร้างที่มั่นคง และระยะยาวในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถยืนอยู่แถวหน้าบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคงในอนาคต
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง