นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง “นโยบายส่งเสริมการมีบุตร” ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านพลเมือง โดยมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate - TFR) ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ต่อครอบครัว ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่ควรจะเป็นร้อยละ 2 ต่อครอบครัว ในปี 2567 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 401,421 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่จำนวนเด็กแรกเกิดไม่ถึง 500,000 คน และแนวโน้มเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะลดลงอีกในปีต่อไป สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ประเทศไทยเป็น สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Age Society) ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 60 ปี สูงกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และจากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ากลุ่ม Generation X มีแนวโน้มที่จะมีลูกสูงที่สุด ส่วนกลุ่ม Generation Y มีสัดส่วนความต้องการจะมีบุตรต่ำที่สุด สถานการณ์ประชากรเกิดลดลงส่งผลกระทบหลายประการ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นส่งผลให้ประชากรวัยแรงงานลดลง กำลังการผลิตลดลง และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจลดลง นอกจากนี้ ยังจะทำให้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระต่อรัฐบาลในอนาคต ด้านสังคม อัตราการเกิดลดลงทำให้โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น ขณะที่ด้านการศึกษานั้น ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ในปี 2565 จำนวนประชากรวัยเรียนลดลง ทำให้ต้องปิดโรงเรียนกว่า 1,000 แห่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจัดสรรงบประมาณและการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย อัตราการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยลดลงอย่างมาก
นายแพทย์เปรมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตนขอตั้งคำถามถึงรัฐบาลใน 3 ประเด็น ว่า ประเด็นแรก รัฐบาลมีแนวทางสนับสนุนให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทั่วถึง และเสมอภาคอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Generation Y) หรือชนชั้นกลางใหม่ รวมถึงการส่งเสริมโครงการสมดุลชีวิตกับการทำงาน (Work-Life Balance) และการเพิ่มจำนวนและคุณภาพของสถานเลี้ยงเด็กหรือ Day Care ในเมือง ประเด็นที่สอง รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาษีที่ชัดเจนในการลดภาระทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพเพื่อส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวตัดสินใจมีบุตรมากขึ้นหรือไม่ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับการมีบุตร การส่งเสริมกองทุนดูแลเด็กเกิดใหม่ หรือการให้เงินอุดหนุน/เงินสมทบเพื่อช่วยดูแลบุตร ประเด็นสุดท้าย รัฐบาลมีแผนงานในการบูรณาการด้านการศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ให้แก่วัยเรียนและวัยทำงาน รวมถึงการจัดหลักสูตรที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่ายหรือไม่ อย่างไร
นายอนุชา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมกล่าวชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณ สว. คนตระหนักถึงปัญหานี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทางกระทรวงฯ ได้เปิดให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร ตั้งแต่การวางแผนครอบครัวจนถึงหลังคลอด โดยมีทีมแพทย์คอยดูแลให้ความรู้ด้านยาและอาหาร โดยจัดตั้งคลินิกเพื่อเสริมการมีบุตร ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 901 แห่ง โดยให้คำปรึกษา ปรับทัศนคติ และเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงรักษาภาวะมีบุตรยาก มีเป้าหมายจัดตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 65 แห่ง รวมทั้งการสนับสนุนการทำเด็กหลอดแก้วหรือเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อื่น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยให้เงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน แก่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ตลอดจนส่งเสริมบริการสาธารณสุข เช่น การได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และส่งเสริมพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและสถานพัฒนาปฐมวัย พร้อมตั้งเป้าหมายพัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กของภาครัฐตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปีให้ครบทุกจังหวัด รวมทั้งส่งเสริมศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านให้มีมาตรฐาน และร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในสถานประกอบกิจการ
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป รัฐบาลโดยกรมสรรพากรได้ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย คนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร บุตรบุญธรรมสามารถหักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันไม่เกิน 3 คน และในปี 2561 ได้เพิ่มการหักลดหย่อนบุตรจาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว ส่วนครอบครัวที่มีฐานะยากจน รัฐบาลได้สนับสนุนเงินสงเคราะห์ 1,000 บาทต่อเด็ก 1 คน (และไม่เกิน 3,000 บาทสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกิน 1 คน) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งตั้งกองทุนคุ้มครองเด็ก เพื่อช่วยเหลือค่าเลี้ยงดู ค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ทุนประกอบอาชีพของครอบครัว และค่ารักษาพยาบาล สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในครอบครัวหรือครอบครัวอุปถัมภ์ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นและปลูกจิตสำนึก เพื่อเปลี่ยนแนวคิดจากสโลแกนเดิมที่ว่า “มีลูกมาก ยากจน” ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2520 มาเป็น “มีลูกช่วยชาติ” นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังผลักดันให้จังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดนำร่อง หรือต้นแบบในการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนมีอัตราการเกิดสูงขึ้น และเด็กแรกเกิดมีคุณภาพด้วย
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง