นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเป็นประธานเปิดการสัมมนา การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายางพารา อุทกภัยและยาเสพติด จังหวัดยะลา ในโครงการรัฐสภาพบประชาชน จังหวัดยะลา ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมี นายซูการ์โน มะทา นายอับดุลอายี สาแม็ง นายสุไลมาน บือแนปีแน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ พร้อมด้วย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายกเทศมนตรีนครยะลา อธิการบดีและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักศึกษา ประชาชน เข้าร่วมการสัมมนา
ประธานรัฐสภา กล่าวว่ารัฐสภาเกิดขึ้นได้เพราะมีประชาชน รัฐสภาจึงผูกพันกับประชาชนและรัฐสภาคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ดังนั้น ประชาชนคือคนสำคัญที่สุดของประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐสภาไม่สามารถที่จะแยกออกจากประชาชนและทอดทิ้งประชาชนได้ ทางรัฐสภาจึงได้จัดโครงการรัฐสภาพบประชาชนจังหวัดยะลาขึ้น เพื่อนำความทุกข์ของประชาชนกลับไปยังสภา จากนั้นส่งต่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยกลไกของฝ่ายบริหาร
ประธานรัฐสภา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในพื้นที่จังหวัดยะลา คือ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหายาเสพติด และปัญหาโรคใบร่วงยางพารา โดยในวันนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับฟังความคิดเห็นของวิทยากรและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็นถึงความต้องการการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ทั้งนี้ รัฐสภาพร้อมที่จะรับฟังปัญหาเพื่อส่งเรื่องไปยังรัฐบาล จากนั้นจึงส่งเรื่องให้ส่วนที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะทำงานจะติดตามผลการประชุมอย่างต่อเนื่องซึ่งทุกปัญหาต้องร่วมมือประสานกันเพื่อสร้างสวรรค์ให้โลกนี้ โลกหน้าและรุ่นลูกหลาน ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมีความตั้งใจทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับการเสวนาในช่วงแรก เป็นการเสวนาเรื่อง ปัญหาอุทกภัย นายสุไลมาน บือแนปีแน สส. ยะลา พรรคประชาชาติ กล่าวว่า วิกฤตน้ำท่วม ในปี 2567 เป็นอุบัติการณ์ครั้งใหญ่ วิกฤติมากกว่าทุกครั้งและประชาชนไม่ทันตั้งตัว ด้วยปริมาณน้ำฝนมาก ส่งผลให้น้ำขึ้นอย่างรวดเร็วและบ้านเรือน ทรัพย์สินได้รับความเสียหายพอสมควร ในช่วงที่เกิดอุทกภัยครั้งนั้น เกิดปัญหาเรือและอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากประชาชนมีความต้องการพร้อม ๆ กัน และไม่ได้มีการเตรียมการล่วงหน้า ดังนั้น ตนจึงได้ใช้กลไกของรัฐสภาในการนำเสียงสะท้อนของประชาชนไปหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขและพร้อมส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลเพื่อให้เกิดผลมากที่สุด
ขณะที่ นายมูฮัมมัด ศานติพิมุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่าจังหวัดยะลาได้มุ่งเน้นในเรื่องการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าโดยติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและปริมาณน้ำฝนเป็นระยะ รวมถึงตรวจสอบระดับน้ำของแม่น้ำ ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอื่น ๆ จะมีการติดตั้งสถานีเตือนภัยล่วงหน้า ในขณะเกิดน้ำท่วมเจ้าหน้าที่จะเร่งอพยพกลุ่มเปราะบางก่อน ขณะเดียวกันได้มีการจัดเตรียมศูนย์พักพิงเพื่อรองรับประชาชนกว่า 20,000 คน นอกจากนี้ ยังได้มีการฝึกอบรมขับเรืออีกด้วย
จากนั้นเป็นการเสวนา เรื่องปัญหายาเสพติด นายซูการ์โน่ มะทา สส.จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ยาเสพติดเข้าถึงทุกครัวเรือน วิวัฒนาการของยาเสพติดรุนแรงมากขึ้น โดยตนได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประธานรัฐสภาเดินทางเข้าไปเรือนจำกลางจังหวัดยะลาพบว่ามีผู้ต้องหาเกือบ 2,000 คน ซึ่ง 90 % หรือ 1,900 คน เป็นผู้ต้องหายาเสพติดทั้งหมด ดังนั้น มุมมองของฝ่ายความมั่นคงที่ว่าปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหารุนแรง จึงไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหลายชุมชน หลายอำเภอ เริ่มรวมพลังต่อต้านยาเสพติดและมีการติดโปสเตอร์รณรงค์ป้องกันยาเสพติดจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นอีกแรงหนึ่งที่ทำให้โครงการรัฐสภาพบประชาชนประสบความสำเร็จได้
ขณะที่ นายสุกรี หลงยือระ หัวหน้าศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดยะลา เปิดเผยว่าจังหวัดยะลาได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมโดยจัดตั้งในทุกอำเภอ และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งสิ้น 73 แห่ง และให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราวและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนโดยการนำหลักศาสนาอิสลามมาสนับสนุนการป้องกันปัญหายาเสพติดอีกด้วย และสิ่งที่น่าสนใจ คือ การเสริมทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขังจำนวน 1,544 คน รวมถึงมีโครงการตรวจสารเสพติดข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างและบุคลากรในสังกัดเพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ขณะที่ นายอับดุลอายี สาแม็ง สส.จังหวัดยะลา กล่าวในการเสวนาเรื่องปัญหายางพารา ว่าเกือบ 5-6 ปีที่ เกษตรกรในจังหวัดยะลาต้องผสมกับปัญหาโรคใบร่วง ส่งผลให้ราคายางตกต่ำ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการเตรียมการทุกหน่วยงานเพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องปัญหายางพารา รวมถึงแนวทางการแก้ไข จากนั้นจึงเริ่มต้นค้นหาสารชีวภัณฑ์เพื่อผลิตน้ำยางให้มีปริมาณมากขึ้น โดยเกษตรกรต้องให้ความร่วมมือจึงจะสามารถแก้ปัญหาร่วมกันได้
ด้าน ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่มาจากประเทศอินโดนีเซีย ระบาดแล้ว 28 จังหวัดและจะระบาดรุนแรงในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. โดยลักษณะอาการคือเกิดจุดดำกลมๆ 1 ซม.บริเวณใบ สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาแบบยะลาโมเดลคือ มีการใช้สารชีวภัณฑ์ 9 ชนิด ที่มีการทดสอบแล้วว่าได้ผลแน่นอนซึ่งได้ทดสอบในสถานที่จริงและมีการยืนยันข้อมูลอีกครั้งโดยใช้พื้นที่ทดสอบคือ ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จากนั้นจึงมีการใช้โดรนบินถ่ายภาพเพื่อให้เห็นภาพระดับความรุนแรงของโรคใบร่วงยางพารา อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่า พื้นที่ที่ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ 9 ชนิดในช่วง 3-4 เดือนจะเห็นสีเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง หากผลิตภัณฑ์ตัวใดได้ผล จะนำไปขยายต่อซึ่งทางการยางแห่งประเทศไทยมีงบประมาณที่จะใช้ในปีหน้าอีกประมาณ 10,000 ไร่
สำหรับบรรยากาศบริเวณหน้าหอประชุม มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายางพาราโดยการยางแห่งประเทศไทยซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจกสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรเพื่อนำไปทดลองใช้ ขณะที่บริเวณด้านล่างหอประชุม มีการจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดโดยมีผู้ประกอบการโอท็อปเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าทั้งสิ้น 91 บูธ
ณรารัฏฐ์ โพธินาม ข่าว /เรียบเรียง