6 ส.ค.67 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เปิดโครงการ OPEN Parliament Hackathon 2024 ส่งเสริมประชาชนร่วมระดมความคิดสร้างสรรค์ นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ทันสมัย สนับสนุนภารกิจรัฐสภา

image

           นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐสภา เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภา ในหัวข้อ OPEN Parliament Hackathon 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 7 ส.ค.นี้ ณ ห้องโถง ชั้น B1 อาคารรัฐสภา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 400 คน
            โดย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อต้องการเห็นรัฐสภาเป็นที่น่าภาคภูมิใจของประชาชน และความภาคภูมิใจ นี้ คือ การเป็นรัฐสภาที่โปร่งใส เพราะการดำนินงานภารกิจต่างๆ มาจากเงินภาษีของประชาชนทุกคน ซึ่งภารกิจของรัฐสภาค่อนข้างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณากฎหมาย ที่นอกจากต้องการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มีคุณภาพแล้ว ยังต้องการข้อมูลที่มีคุณภาพด้วย เพื่อสามารถพิจารณากฎหมาย การแปรญัตติ การเทียบเคียงกฎหมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อตรากฎหมายในอนาคต และการเทียบเคียงกฎหมายกับต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือพลังของเทคโนโลยี รวมถึงต้องเห็นกระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และการติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบที่มีศักยภาพ เพื่อให้การติดตามตรวจสอบรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของการบริหารประเทศ และสุดท้าย คือ ต้องการให้ประชาชนที่เข้ามาที่รัฐสภาแห่งนี้ ได้รู้สึกว่ารัฐสภาเป็นที่ของประชาชนทุกคน ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการเปิดโครงการด้านไอทีของรัฐสภาตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2570 เพื่อให้ประชาชน และผู้ประกอบการด้านไอทีในประเทศไทยได้รู้ถึงทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลของรัฐสภา เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มี ศักยภาพได้นำเสนอโครงการที่ดีอย่างเท่าเทียม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบรัฐสภาไทย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อรัฐสภาและประเทศ   
             สำหรับโครงการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการนิติบัญญัติ และระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภา อันจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎหมาย กระบวนการด้านนิติบัญญัติได้สะดวก และทั่วถึง อีกทั้งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อข้อมูลเปิดของรัฐสภาโดยใช้เทคโนโลยีในยุคปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ภายในงานมี กิจกรรมระดมความคิดเห็นหลายกิจกรรม อาทิ การเสวนา หัวข้อ "Exclusive Talk : มุมมองการเปลี่ยนประเทศจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของรัฐสภา" /การศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และกิจกรรมแบ่งกลุ่มระดมความคิดเพื่อออกแบบแพลตฟอร์มด้านข้อมูลเปิดของรัฐสภาฯ



อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ