19 ม.ย. 67 – คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดูผลกระทบและปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิมอย่างรอบด้าน หวังให้ร่างกฎหมายใหม่เกิดความรัดกุม ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ การควบคุมการโฆษณาต้องเหมาะสม สมดุล

image

        การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ที่มี นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองประธานกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุมพิจารณาศึกษาถึงหลักการ เหตุผล และผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายฉบับและอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่แตกต่างกัน เช่น พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 เป็นต้น ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีเพียงประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องหลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุเท่านั้น ประเทศไทยไม่มีกฎหมายฉบับใดคุ้มครองสุขภาพประชาชนในการบริโภค การป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พิจารณาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีความต่างจากสินค้าธรรมดาเพราะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดกระตุ้นการบริโภคมากขึ้นเพื่อผลกำไร จึงต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อควบคุมการบริโภค รวมทั้งเป้าหมายลดนักดื่มหน้าใหม่ ลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ จึงนำมาสู่  พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีมาตรการสำคัญหนึ่งในการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีอิทธิพลต่อการสร้างค่านิยมและยอมรับการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นวัยที่อ่อนไหว ทำตามโฆษณาชวนเชื่อ

       คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พิจารณาและพบว่าภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายหลายประเด็น เช่น การดำเนินคดีกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แฝงในร้านอาหารซึ่งผู้ประกอบการร่วมกับเจ้าของร้านติดตั้งรูปภาพ ป้าย แผงไฟ และบริการสาวเชียร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ตราเสมือนในสินค้าประเภทอื่น และการจัดหรือสนับสนุนการจัดกิจกรรมพิเศษที่ปรากฏสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเดียวกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมาธิการควรพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างรอบคอบและรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ เห็นว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องที่บังคับใช้อยู่นี้ เกิดปัญหาต่อผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในประเด็นการตีความและการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับประชาชนที่ไม่ใช่ผู้ที่มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ด้านความคิดและตัดสินใจซึ่งเป็นที่รู้จักจำนวนมากและไม่มีเจตนาในการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดำเนินคดีกับนักวิจารณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ที่ให้ความรู้ทางวิชาการ เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค การกำหนดโทษปรับกรณีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอัตราเดียวกันทั้งผู้ประกอบรายใหญ่และผู้ประกอบรายเล็กโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระ การกำหนดให้มีสินบนและรางวัลนำจับ การกำหนดโทษกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่าโทษของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ให้ความสำคัญกับการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าว ถือเป็นที่มาที่ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยคำนึงถึงการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสังคม และลดการใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นโจทย์ให้คณะกรรมาธิการพิจารณาแนวทางควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเหมาะสมและเกิดความสมดุล

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ