18 ก.ค.67 - กมธ.การเกษตรฯ สภาผู้แทนราษฎร เรียกหน่วยงานร่วมหาแนวทางช่วยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาว แนะ3 ทางแก้ระยะเร่งด่วน ให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กระจายสินค้า จัดหาห้องเย็นและออกมาตรการช่วยรับซื้อ ขณะกรมประมง ต้องจัดหาสถาบันการเงิน แหล่งทุนหมุนเวียน ขณะย้ำระยะยาว ควรหนุนลดราคาปัจจัยการผลิต หาตลาดต่างประเทศเพิ่ม 

image

   นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร พร้อม นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย โฆษก กมธ. แถลงข่าวถึงผลการประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาเรื่องแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาว โดยมี กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน กรมประมง กรมศุลกากร พาณิชย์จังหวัดฉะเชิงเทรา และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาว เข้าร่วมประชุม ว่า ภายหลังการพิจารณา ที่ประชุม กมธ. ได้มีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ว่า ควรวาง 3 แนวทางแก้ไขระยะเร่งด่วน คือ กระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายใน เร่งระบายกุ้งขาว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการจัดหาพื้นที่หรือตั้งจุดจำหน่ายกุ้งขาวในทุกจังหวัดที่ไม่มีการเลี้ยงกุ้ง เพื่อกระจายสินค้าในเวลาเร่งด่วน  ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายใน ต้องประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการห้องเย็นเพื่อหาแนวทางและมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรับซื้อกุ้งขาวจากเกษตรกร และกรมประมง ควรประสานความร่วมมือกับสถาบันทางการเงิน เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมการผลิตด้วยการปรับปรุงระบบการเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ

   ด้านแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว มี 5 แนวทาง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ ควรประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการห้องเย็นและผู้ส่งออก เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่มีความร่วมมือส่งออกกุ้งขาวจากประเทศไทยเพื่อเปิดตลาดใหม่ รวมถึง กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายอาหาร ควรมีแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ร่วมกับ กรมศุลกากร เพื่อแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้ามีต้นทุนสูง โดยเฉพาะกากถั่วเหลือง ด้าน กรมค้าภายใน ควรมีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณกุ้งในสต็อกภายในประเทศ เพื่อการบริหารจัดการการส่งออกที่มีประสิทธิภาพ ส่วน กรมประมง ควรจัดหาปัจจัยการผลิตราคาถูกให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเลี้ยงกุ้ง ส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ ตลอดจน การพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนค่าไฟฟ้าของฟาร์มเลี้ยงกุ้งให้อยู่ในระบบการเกษตร เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร นอกจากนี้ คณะกรรมการ Shrimp Board ต้องกำหนดแผนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบริหารจัดการการนำเข้าให้สอดคล้องกับการกำหนดโควตาการเลี้ยงภายในประเทศ เพื่อให้กระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภายในประเทศ อีกทั้ง ในการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการ Shrimp Board ควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ด้วย พร้อมกันนี้ กมธ. จะได้มีข้อเสนอไปยังกรมปศุสัตว์ เพื่อพิจารณาปรับปรุงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การแสดงฉลากและข้อความในฉลากสำหรับอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ พ.ศ.2559 เพื่อให้มีการกำหนดรายละเอียดโครงสร้างส่วนประกอบของอาหารสัตว์ ตลอดจน ปริมาณสัดส่วนวัตถุดิบแต่ละชนิดในฉลากให้ชัดเจน และจะมีข้อเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พิจารณาหาความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนค่าไฟฟ้าของผู้เลี้ยงกุ้งจากระบบไฟฟ้าอุตสาหกรรม เป็นค่าไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ด้วย 

 

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ