1 ส.ค.67- กมธ.การต่างประเทศ สผ. แนะรัฐบาลไทยร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดีย เดินหน้ากระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างยั่งยืน พร้อมผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพย้ายถิ่น สามารถต่อ ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยได้ และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบตามกรอบของกฎหมาย

image

        นายนพดล  ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาว จิรัชยา  สัพโส โฆษกคณะ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการศึกษา เรื่อง แรงงานต่างด้าว ผู้อพยพ และสถานการณ์ในเมียนมา โดยคณะ กมธ. ได้ติดตามปัญหาการสู้รบในเมียนมาที่ยังไม่ยุติและส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กมธ. จึงมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลไทยควรเป็นผู้นำร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดียในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพและเอกภาพในเมียนมาอย่างยั่งยืน ขณะที่ การแก้ไขปัญหาแรงงานเมียนมานั้น ภายหลังจากที่ คณะ กมธ.ได้รับฟังข้อมูลจากภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และหน่วยงานภาครัฐ กมธ. มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล มีมาตรการผ่อนผันให้กลุ่มที่เข้ามืองแบบไม่ถูกต้องหรือการอยู่อาศัยสิ้นสุดลง สามารถจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศไทยชั่วคราว 2 ปี ผ่านศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ยกเว้นเงื่อนไขเรื่องการมีหนังสือเดินทางและตรวจลงตราวีซ่าชั่วคราว 2 ปี ส่วนกลุ่มแรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใบอนุญาตจะหมดอายุลงในวันที่ 13 ก.พ.68 ซึ่งมีแรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน  2,026,833 คน นั้น คณะ กมธ. มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ดำเนินการปรับสถานะให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ให้เป็นแรงงานนำเข้าตามระบบ MOU โดยสามารถใช้บัตรสีชมพูเป็นหลักฐานยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานได้ ขณะที่ กลุ่มแรงงานตามระบบ MOU ที่มีอายุครบ 4 ปี สามารถผ่อนผันขออยู่ต่อและต่อใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยอีก 2 ปี โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปประเทศตนเอง และให้ใช้หลักฐานหนังสือเดินทางฉบับเดิม และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมมาเป็นหลักฐานในการแสดงเพื่อขอต่ออายุในประเทศไทย ยกเว้นเงื่อนไขเรื่องการมีหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราวีซ่าชั่วคราว 2 ปี นอกจากนี้ กลุ่มจ้างงานชายแดน ให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่จ้างงานพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา มารายงานตัวและจัดทำทะเบียนประวัติที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างน้อย 1 ปี และพิจารณาต่อได้ครั้งละ 1 ปี โดยในกรณีที่เคยมีบัตรผ่านแดนและใบอนุญาตทำงานมาก่อนให้นำมาเป็นหลักฐานด้วย ซึ่งคณะ กมธ. ได้เน้นย้ำว่า การดำเนินการตามที่เสนอนั้น รัฐบาลต้องคำนึงถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และต้องดำเนินการเท่าที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายและระเบียบอย่างครบถ้วน

        นายนพดล กล่าวถึงมาตรการการช่วยเหลือด้านมนุษธธรรมต่อประชาชนในเมียนมา ว่า ขอให้รัฐบาลไทยและอาเซียน เพิ่มการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมชาวเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบให้มากขึ้น โดยใช้กลไกคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา เพื่อให้การช่วยเหลือถึงมือประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากนี้ ควรเพิ่มบทบาทองค์กรเอกชนและเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งควรเปิดรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากทุกภาคส่วนไปยังผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ