6 ส.ค. 67 - ที่ประชุมวุฒิสภา เตรียมพิจารณา 3 วาระรวด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน ห่วงไม่ทันตามกรอบเวลา 20 วัน  

image

          การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระเรื่องด่วน พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยวุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ. มาถึงวุฒิสภา ซึ่งจะครบกำหนดในวันอังคารที่ 20 สิงหาคม นี้
          โดยที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้งดใช้ข้อบังคับฯ ข้อ 138 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 161 เสียง ไม่เห็นด้วย 17 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง งดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี  มีผลให้เกิดการพิจารณาแบบ 3 วาระรวด คือ สมาชิกวุฒิสภาสามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่  จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา และต่อด้วยการลงมติ เห็นชอบหรือ ต่อในคราวเดียวกัน ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาต่างเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์และทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบฯ เพิ่มเติม ปี 67 อยู่ในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
          ภายหลังได้ข้อสรุป นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้ประชาชนและธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ไม่สามารถรองบประมาณรายจ่าย ปี 2568 ได้ ซึ่งเศรษฐกิจไทย ปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2-3 ค่ากลางร้อยละ 2.5 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของพรรคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการอุปโภคบริโภค และการลงทุน ตลอดจนการกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้า ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตร และความผันผวนทางเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.1-1.1 ค่ากลางร้อยละ 0.6 และดุลบัญชีเดินสะพัด มีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)
             นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้งมานั้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว โดยปี 2567 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบาย ขาดดุลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง ขณะที่ประมาณการจัดเก็บรายได้จากส่วนราชการ 10,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดทุนงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม โดยการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ทำให้เกิดการซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การบริหารงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวิ่งงานวินัยการเงินการฟังของรัฐใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ