24 เม.ย.67 - กมธ.การกฎหมาย สผ. รับหนังสือจาก ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ ป.วิ อาญา ขอคืนสิทธิ์ประชาชนผู้ถูกกล่าวหา ยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ตาม รธน. พร้อมเสนอทางแก้ปัญหาการกักขังผู้ต้องโทษค่าปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ลดปัญหาคุกล้น

image

         น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ รองประธานคณะ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อขอเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎร และเสนอแนวทางแก้ปัญหาการกักขังผู้ต้องโทษค่าปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ
         โดย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ศูนย์นิติศาสตร์ฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้เป็นไปตามหลักการมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติหลักดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2492 แต่กลับไม่มีการใช้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากโครงสร้างของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) ยังยึดหลักการตรงกันข้ามโดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ทั้งยังใช้การคุมขังเป็นมาตรการหลัก มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีผู้ต้องขังกว่า 300,000 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดกว่า 59,640 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย.67) จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไข ป.วิ อาญา ให้สิทธิประชาชนที่ถูกกล่าวหา ตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาต้องได้รับการปฏิบัติในแบบที่ไม่ใช่นักโทษ หากไม่ให้การประกันตัวต้องเป็นการกักขังที่ไม่ใช่การกักขังในคุก จะลงโทษก่อนศาลพิพากษาไม่ได้
          นอกจากนี้ ศูนย์นิติศาสตร์ฯ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาการกักขังผู้ต้องโทษค่าปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ สืบเนื่องจากรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 เมษายน 2567 พบจำนวนผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ หรือผู้ต้องโทษค่าปรับที่ไม่มีเงินหรือทรัพย์สินชำระค่าปรับ เป็นจำนวนมากถึง 8,126 คน ซึ่งเมื่อรวมจำนวนทั้งปีแล้ว เชื่อว่ามีจำนวนผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับในแต่ละปีไม่น่าจะน้อยกว่า 20,000 คน อันเป็นการติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ หรือ ติดคุกเพราะจน จึงเป็นปัญหาเรื่องความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่ควรแก้ไขโดยเร่งด่วน ทางศูนย์นิติศาสตร์ฯ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 โดยกำหนดให้ผู้ที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษาผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 กำหนดให้ศาลแจ้งสิทธิ์ในการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ สำหรับผู้ไม่มีเงินชำระค่าปรับ
        ด้าน น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า ทั้ง 2 ปัญหาดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการทำงานของ กมธ.ที่ได้ศึกษาแนวทางเกี่ยวกับการลดจำนวนนักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งขณะนี้มีมากถึง 300,000 คน โดยหนึ่งส่วนในนั้นคือผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและผู้ต้องโทษค่าปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ทั้งนี้ กมธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นใหม่อีก 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายโดยเฉพาะ และคณะอนุกรรมาธิการเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กมธ.จะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ