26 เม.ย. 67 - กกต. ตอบข้อหารือลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็น สว. แจงผู้สมัครต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในวันสมัคร ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ จนท.อื่นของรัฐ ยึดคำวินิจฉัยศาล รธน. 

image

          สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) ออกเอกสารเผยแพร่การตอบข้อหารือเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  ว่าสำหรับกรณีผู้ที่จะสมัคร  สว.หากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 14 (21)   กำหนดว่าผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันสมัครรับเลือกเป็น สว. บุคคลซึ่งสมัครรับเลือกเป็น สว. ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด  ย่อมถือว่าบุคคลนั้นไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครตามมาตรา 14 (21) ส่วนกรณีบุคคลดำรงตำแหน่งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จะถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น สำนักงาน กกต.เห็นว่า พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  มาตรา 4 กำหนดคำนิยามคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความว่า  นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สว. ข้าราชการการเมืองอื่น  และตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง   ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา  กรณีตามข้อหารือเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องเทียบเคียงจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว 

        กกต. แจงด้วยว่ากรณีบุคคลดำรงตำแหน่งคณะกรรมการชุมชน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยคณะกรรมการชุมชน พ.ศ. 2565   และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่สอง พ.ศ.2566 ข้อ 16 และ ข้อ 18 วรรคสอง  จะถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ถ้าไม่ต้องลาออกในวันรับสมัครหรือไม่ และกี่วัน   ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543  ลงวันที่ 14 ก.พ.43 สรุปลักษณะของ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้    โดยเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย  รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำโดยอยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐและมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย ดังนั้น บุคคลใดจะมีสถานะ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ต้องพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ ควรหารือไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อวินิจฉัยว่าตำแหน่งคณะกรรมการชุมชนอยู่ในความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่น ของรัฐตามแนวคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นหรือไม่

         ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 และ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก สว. พ.ศ. 2567

 

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ