12 ก.ค.68 - กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา เร่งผลักดันการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการบริจาคอวัยวะ และพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมส่งเรื่องให้ คณะอนุ กมธ. แก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข จัดทำข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

image

        นายแพทย์ประพนธ์  ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาถึงการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพ Transplant Procurement Manager (TPM) ที่เสนอโดยนายแพทย์วีระพันธ์  สุวรรณามัย รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง เป็นผู้เสนอ เนื่องจากสถานการณ์การปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทย พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่รอรับบริจาคอวัยวะมีมากกว่าอัตราการบริจาค ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบริจาคอวัยวะ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ โดยผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ฯ ได้ขอความอนุเคราะห์จาก กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา เพื่อขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งงาน ค่าตอบแทนวิชาชีพ การสร้างเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กมธ. เห็นควรเชิญผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมในครั้งถัดไป และจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย จากนั้น ที่ประชุม กมธ. ได้การพิจารณาถึงปัญหาและแนวทางการจัดระบบสาธารณสุข ซึ่งเสนอโดยประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประธานชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบสุขภาพได้ร่วมกันเสนอปัญหาของระบบบริการทางการแพทย์ในปัจจุบัน โดยพบปัญหาที่สำคัญ คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แต่การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้หน่วยบริการต้องรับภาระความเสี่ยงทางการเงิน และการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุน โดยมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยแบ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทบทวนนโยบายการให้บริการที่กำหนดให้หน่วยบริการดำเนินการ โดยไม่ลิดรอนความสามารถของหน่วยบริการในการควบคุมต้นทุนอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการใช้นโยบายงบประมาณปลายปิด ส่วนในระยะยาวห็นควรการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ

        นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า คณะอนุ กมธ. แก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข ภายใต้ กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา กำลังศึกษาปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพอยู่แล้ว จึงเห็นควรให้คณะอนุ กมธ. ชุดดังกล่าว นำประเด็นที่เกี่ยวข้องนี้ไปประกอบการพิจารณาร่วมด้วย

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ