23 เม.ย.67 – ประธานรัฐสภา ให้การรับรองเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ด้านนิติบัญญัติทั้งการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพฯ และการเยือนระหว่างกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น

image

        นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองนายแพทริก  เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยและคณะ ที่ขอเข้าเยี่ยมคารวะประธานรัฐสภา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทยและรัฐสภาไอร์แลนด์ โดยมีนายมุข  สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายคัมภีร์  ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายธงชาติ  รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นางฟารีดา  สุไลมาน คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร นายมีชัย  ออสุวรรณ ที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุธีรพันธ์  สุขวุฒิชัย ที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าที่ ร.ต.ต. อาพัทธ์  สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายอาพล นันทขว้าง ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา

        ประธานรัฐสภาของไทย ได้กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ว่า ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในทุกระดับ ทั้งระดับรัฐบาล รัฐสภา ภาคเอกชน และประชาชน ส่งผลให้เกิดความร่วมมือทั้งการเมือง การค้า เศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของไอร์แลนด์ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และหลักสูตรต่าง ๆ ให้กับไทย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันรัฐสภาของทั้งสองประเทศยังไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน และยังไม่มีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพฯ ระหว่างกัน แต่ในอนาคตรัฐสภาไทยยินดี ยกระดับความสัมพันธ์ในการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพฯ และในปี 2568 ที่จะครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ ตนอาจจะเดินทางไปเยือนรัฐสภาไอร์แลนด์และจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกันต่อไป

        เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภาของไทย และบุคลากรของรัฐสภาไทย ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี สำหรับนโยบายระหว่างประเทศของไอร์แลนด์นั้นมีจุดยืนเป็นอิสระ ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทางทหาร และสนับสนุนการใช้หลักสันติภาพ และสิทธิมนุษยชน โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ โดยปี ค.ศ. 1925 ไอร์แลนด์ได้ส่งนักวิชาการ และนักวิจัย เข้ามาจัดทำบัญชีรายชื่อพันธุ์พืชของประเทศไทย ตลอดจนช่วยจัดทำแผนที่บริเวณชายแดนให้กับประเทศไทยด้วย และในปี ค.ศ. 1975 ไอร์แลนด์ และไทย ได้เริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และปี ค.ศ. 2014 ได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนทั้งด้านเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวจากไอร์แลนด์มาเยือนประเทศไทยปีละกว่า 70,000 คน และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 34,635 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ไอร์แลนด์ ได้ติดตามพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของไทยมาโดยตลอด และยินที่ที่ไทยสามารถจัดการเลือกตั้งและได้รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างราบรื่น รวมถึงรัฐสภาไทยได้ผ่านกฎหมายที่สำคัญ อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.66 และล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าและจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นได้ดำเนินการต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้รัฐสภาสามารถเดินหน้ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้สำเร็จและเกิดประโยชน์กับประชาชนต่อไป

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ