25 เม.ย.67 - สว.วัลลภ คาดร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม พิจารณาแล้วเสร็จสิ้นเดือน พ.ค.นี้ พร้อมย้ำจุดยืน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ ไม่ดูงานต่างประเทศ แนะ กำหนดหลักการดูงานให้ชัด ต้องเกิดประโยชน์และคุ้มค่างบแผ่นดิน

image

          นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมพิจารณาผ่านไปแล้ว 14 มาตรา จากทั้งสิ้น 68 มาตรา ซึ่งทุกกระบวนการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยที่ผ่านมาทาง กมธ.ได้ดูรายละเอียดในถ้อยคำหลักทั้งการจำกัดความคำว่าสามี - ภรรยา รวมถึงเรื่องการหมั้น การแต่งงาน ซึ่งทาง กมธ.ได้หารือร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่มีปัญหา พร้อมขอชื่นชมร่างกฎหมายที่มาจากภาคประชาชน ที่มีการเทียบเคียงกับร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม โดยนำบริบทความเข้าใจของสังคมไทย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงนำมุมมองความคิดเรื่องเปิดกว้างทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาผสมผสาน ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับหลักศาสนานั้น กมธ.ได้หารือแล้วและเห็นว่าจะไม่บังคับกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นมุสลิม ไม่อยากจัดการสมรสหรือขึ้นทะเบียนให้กับบุคคลที่ต้องการจดทะเบียน สามารถเว้นการดำเนินการได้ โดยให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธมาดำเนินการแทนได้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ปัญหา ดังนั้น ขอให้สบายใจได้ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ใช้แน่นอน ทั้งนี้ กมธ.จะมีการนัดประชุมอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งหมด 10 ครั้ง ซึ่งคาดว่าข้อสรุปจะแล้วเสร็จภายในการประชุมครั้งที่ 6 เนื่องจากในต้นเดือนพฤษภาคม จะมีการเชิญผู้แปรญัตติมาชี้แจงและไล่เรียงการพิจารณาเป็นรายมาตรา พร้อมยืนยันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะพิจารณาแล้วเสร็จอย่างแน่นอนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ทันช่วงสมัยประชุมวิสามัญเดือนมิถุนายน นี้ รวมทั้งเร่งนำร่างกฎหมายอื่นที่ยังค้างการพิจารณา อาทิ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และร่างการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สมาชิกวุฒิสภาจะต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะพ้นวาระ  
             นอกจากนี้ นายวัลลภ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีกระแสสังคมตั้งข้อสังเกตถึงเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศในช่วงใกล้หมดวาระของวุฒิสภา นั้น โดยระบุว่า ในส่วนของกมธ.การพัฒนาสังคมฯ ที่ตนเป็นประธาน กมธ.ไม่เคยเดินทางศีกษาดูงานต่างประเทศ เนื่องจาก กมธ.เองมีจุดยืนไม่เดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ ทั้งนี้ เท่าที่ทราบข้อมูลมี 9 กมธ.ที่ไม่ได้เดินทาง เช่น กมธ.การพัฒนาสังคมฯ , กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ, กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ และกมธ.การสาธารณสุข เป็นต้น ส่วนเหตุผลที่ตนไม่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศนั้น เนื่องจากมีภารกิจเป็นจำนวนมาก ประกอบกับตนได้แสดงความเห็นในที่ประชุมแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ทางสมาชิกวุฒิสภาจะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศในช่วงจะพ้นวาระ เนื่องจากไม่สามารถที่จะตอบสังคมได้ว่า หลังจากการเดินทางไปศึกษาดูงานแล้วนั้นจะนำมาต่อยอดสิ่งใดต่อ ส่วน กมธ.อื่นที่เดินทางไปดูงานต้องตอบคำถามต่อสังคมว่าเดินทางไปแล้วได้ประโยชน์อะไรให้กับประเทศบ้าง
          ต่อข้อถามว่าในอนาคตจะต้องออกเป็นระเบียบ ข้อปฏิบัติ หรือไม่นั้น นายวัลลภ กล่าวว่า ไม่ใช่ระเบียบแต่เป็นเรื่องของหลักการใหญ่ ถ้าหลักการชัดเจนว่าราชการ สส.ไม่ควรดูงานเรื่องใดบ้าง สามารถกำหนดแนวทางได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมฝากไปยังทุกส่วนราชการและองค์กรอิสระ พิจารณาถึงความสำคัญจำเป็นในการลงพื้นที่การศึกษาดูงานต่างประเทศ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูงานในต่างประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ