25 เม.ย.67 - กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ สผ.เตรียมลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 12-14 พ.ค.นี้ ติดตามสถานการณ์สู้รบในเมียนมา แนะรัฐออกบัตรประชาชนรหัสพิเศษตรวจสอบผู้หนีภัย พร้อมเร่งใช้แนวทางเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา

image

        นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ร่วมแถลงข่าวว่า กมธ.ได้ติดตามสถานการณ์การสู้รบในเมียนมากับผลกระทบต่อความมั่นคงและชายแดนไทย เนื่องจากมีเหตุเร่งด่วนมาจากความรุนแรงและการสู้รบภายในประเทศเมียนมาที่ปะทุขึ้นใกล้ชายแดนประเทศไทย ส่งผลให้เกิดผู้หนีภัยความขัดแย้งข้ามแดนเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคง ร่วมชี้แจงถึงความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้เสนอแนวทางมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ใหม่ ให้เอื้อต่อการประสานงานรับมือ ทั้งกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ โดยไทยยึดจุดยืน 3 ประการ ได้แก่ การรักษาอำนาจอธิปไตยของไทย การไม่ยินยอมให้ฝ่ายใดใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง และการให้ความช่วยเหลือดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งตามหลักสากล ขณะที่ กระทรวงต่างประเทศ ได้มีความพยายามผลักดันให้กลุ่มสมาชิกอาเซียน เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา และมีความตั้งใจในการขยายผลการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ที่มีการนำร่องช่วยเหลือไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567
          ด้าน นายรังสิมันต์ กล่าว่า ที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงเรื่องน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีการซื้อขายจากประเทศไทยถึงร้อยละ 25 และน้ำมันบางส่วนใช้ในเรื่องอากาศยานที่ใช้ในปฏิบัติการโจมตี สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจต่อรองสำคัญที่ประเทศไทยสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพ และเพิ่มดุลในการเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาได้ นอกจากนี้ กมธ.ยังได้แสดงความกังวลถึงการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน เพื่อความร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐ (NGO) และองค์กรระหว่างประเทศ /การจัดการและรับมือกลุ่มทุนที่มีการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายในเขตประเทศเมียนมา และกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการรับมือกับกลุ่มผู้หนีภัยเศรษฐกิจ - กลุ่มผู้แสวงหาโอกาสที่ข้ามแดนเข้าสู่ไทย ทั้งนี้ เห็นว่าวิธีการหนึ่งที่ควรดำเนินการและสามารถทำได้ในการตรวจคนเข้าเมือง คือ กลไกการออกบัตรประชาชนรหัสพิเศษ ซึ่งไม่ใช่การให้สถานะหรือบัตรประชาชนชาวไทย แต่เป็นการดำเนินการเพื่อการตรวจสอบและติดตาม และแก้ปัญหาการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐแลกกับการหนีภัย รวมถึงมีข้อเสนอของอนุกรรมการฯ ว่าอาจจะใช้อำนาจตามมาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองปี 2522 ที่จะให้ความเห็นชอบผู้หนีภัยเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดลงและมีความจำเป็นต้องทำงานเลี้ยงชีพ สามารถให้อยู่อาศัยได้ชั่วคราวได้ เพื่อเข้าสู่การบริหารจัดการตามกฎหมายในอนาคต วิธีการเหล่านี้จะตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจของไทยที่ต้องการแรงงานได้
            นายรังสิมันต์ กล่าวถึงมาตรการระยะยาวที่รัฐบาลควรดำเนินการ ว่า  ควรมีการเริ่มเจรจากับทุกฝ่าย เพื่อเพิ่มกลไกในการพูดคุย ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในการแก้ปัญหาหลายอย่างที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากปัญหาการสู้รบจะส่งผลกระทบทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งไทยไม่สามารถที่จะแก้ไขได้โดยลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณชายแดน เพื่อสร้างสันติภาพในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ฝุ่นควัน ด้วย ทั้งนี้ กมธ.ได้มีมติจัดทำหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งรัดกระบวนการรับมือสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรอบด้าน และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค. 67 รวมทั้งเข้าพบกับสภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงต่างประเทศ เพื่อปรึกษาในประเด็นความมั่นคงด้านชายแดนไทย - เมียนมา

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ