25 เม.ย.67 - รองประธาน กมธ.การที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร ย้ำต้องดำเนินคดีกับบริษัทที่ครอบครองกากแคดเมียมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ชี้เป็นการทำผิดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีโทษทั้งอาญาและแพ่งตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายโรงงาน และกฎหมายวัตถุอันตรายฯ

image

        นายกฤช  ศิลปชัย รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และนายพงศธร  ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามกรณีการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียม ว่า ตนขอเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ครอบครอบกากแคดเมียมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะเจ้าของผู้ครอบครองโรงงานถลุงแร่ที่กักเก็บกากแคดเมียม คือ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จ.ตาก โดยเป็นโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงสังกะสีได้ทำการเปิดหลุมกำจัดกากตะกรันแคดเมียมที่ฝังกลบแบบปลอดภัยไว้ในพื้นที่โรงงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ฉบับเริ่มต้นประมาณปี 2524 – 2530 และปรับปรุงอีกครั้งในปี 2554 โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขใบอนุญาตโรงงานด้วย ดังนั้น การขุดกากแคดเมียมดังกล่าวยังไม่ได้มีการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงมาตรการในรายงาน EIA จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แต่ได้นำกากตะกรันแคดเมียมที่ขุดขึ้นมาเองไปขาย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการละเมิด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน พ.ศ. 2535 รวมถึงต้องดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย

        นายกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ครอบครองกากแคดเมียมกลางทาง ได้แก่ บริษัท เจแอนด์บี เมททอล จำกัด ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งรับซื้อจากการแคดเมียมมาจาก บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) แม้ว่าจะมีใบอนุญาต รง. 3 ใบ แต่บริษัท เจแอนด์บีฯ ยังไม่มีเครื่องจักรที่มีความสามารถในการหลอมสังกะสีและแคดเมียมได้ แต่กลับซื้อกากแคดเมียมจากโรงงานของ บริษัทเบาว์แอนด์ บียอนฯ โดยผ่านการอนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตาก จำนวน 15,000 ตัน แต่เมื่อทำไม่ได้จึงได้ขายกากแคดเมียมบางส่วนส่งต่อให้โรงงานอื่น ๆ ใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ชลบุรี โดยนำส่วนที่เหลือได้ส่งไปเก็บไว้ตามโกดังต่าง ๆ ทั้งใน จ.สมุทรสาคร และ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ โรงงานของบริษัท เจแอนด์บีฯ จ.สมุทรสาคร จึงถูกแจ้งข้อหาเรื่องการนำกากอันตรายไปขายต่อรวมทั้งรับกากแคดเมียม

        นายกฤช กล่าวด้วยว่า ตนขอเรียกร้องให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องมีมาตรการในการดูแลเยียวยาประชาชนที่รับผลกระทบจากการกระทำผิดเรื่องนี้ด้วย แม้ว่าขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้ว และต้องดำเนินคดีกับบริษัท บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายโรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่มีโทษทั้งอาญาและแพ่ง ส่วน บริษัท เจ แอนด์ บีฯ ซึ่งรับซื้อกากแคดเมียมจากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ นั้น ตนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตเพิ่มเติมว่า การขออนุญาตในการหลอมสังกะสีและแคดเมียม ต้องออกให้กับโรงงานที่มีเครื่องจักรในการหลอมแคดเมียม แต่โรงงานนี้ไม่มีเครื่องจักรที่มีศักยภาพในการหลอมแคดเมียมดังกล่าว การออกใบอนุญาตของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องตรวจสอบความพร้อมของโรงงานว่ามีความพร้อมในการดำเนินการเกี่ยวกับแคดเมียมหรือไม่ นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจสอบกระทรวงการคลังด้วย เพราะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ถึง 1 ใน 10

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ