13 พ.ค.67 - สส.กมนทรรศน์ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากเหตุไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีนิคมฯ มาบตาพุด มีมาตรฐาน หรือไม่ หลังพบ จุดตรวจวัดไม่สอดคล้องทิศทางลม พร้อมแนะ จ.ระยอง สร้างระบบ SMS เตือนภัย รับมือเหตุฉุกเฉินมลพิษอุตสาหกรรม

image

           นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีเหตุไฟไหม้โรงงานถังเก็บสารเคมีในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย ตนขอแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน พร้อมขอชื่นชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ทุ่มเทเพื่อระงับเหตุอย่างเต็มความสามารถ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะระงับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ในที่สุด แต่พบว่า ยังมีหลายอุปสรรคที่เป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถควบคุมเพลิงไหม้ได้ทันท่วงที รวมถึงการแจ้งภาวะฉุกเฉินไปยังประชาชนและสื่อมวลชนให้เข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างล่าช้าและไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสับสนและเกิดความตื่นตระหนก เพราะไม่ทราบถึงแนวทางป้องกันตนเอง มีชุมชนใดบ้างที่ต้องอพยพ รวมทั้งไม่ทราบความคืบหน้าของสถานการณ์ นอกจากนี้ ตนยังตั้งข้อสังเกตถึงการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศของหน่วยงานและการดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชนว่าเป็นไปตามมาตรฐาน หรือไม่ เนื่องจากพบว่า ในขณะที่ควันและปลายทางของลมจากเหตุดังกล่าวพัดไปทางอำเภอบ้านฉางมากขึ้น แต่จุดตรวจวัดคุณภาพอากาศยังอยู่ที่บ้านชุมชนตากวน ซึ่งอยู่ทิศทางตรงกันข้าม ทำให้ตัวเลขจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระบุว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งที่ มีประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับกลิ่นและควันเหม็นจากสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นอาการระคายเคืองตา แสบคอ เวียนศีรษะและอาเจียน โดยพบว่า ประชาชนที่ได้รับการตรวจสุขภาพ กว่า 100 ราย มีอาการหนักถึง 60 ราย ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริหารของโรงงานที่เกิดเหตุจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ตนเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการปรับปรุงและทบทวนมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนป้องกันเหตุฉุกเฉิน /การประเมินความเสี่ยง/ แผนการอพยพ/ แผนการสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชน และแผนการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2552 แต่กลับมีจำนวนโรงงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้น การประเมินศักยภาพในการรองรับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการทบทวน หรือไม่ และศักยภาพในการเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในระดับจังหวัด ควรต้องมีการทบทวนและปรับปรุง หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดระยองควรมีมาตรการสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านการส่งข้อความทางมือถือ (SMS) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ทราบความคืบหน้าของสถานการณ์ ให้สามารถป้องกันตัวเอง เตรียมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้ รวมถึงขอให้หน่วยงานราชการส่วนกลางวางแผนการสื่อสารให้ประชาชนมีความเข้าใจตรงกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน โดยทางจังหวัดอาจต้องสร้างเป็นโมเดลรูปแบบการสื่อสารรองรับเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยง ขาดความความมั่นใจในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินจากหน่วยงานราชการ
           สำหรับข้อสังเกตข้างต้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.การอุตสาหกรรมฯ ในวันพุธที่ 15 พฤษภาคม นี้ เพื่อให้บริษัท/โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง เพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกัน เตรียมวางแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานแล้วหลายครั้ง ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ ลดความเสี่ยงการใช้ชีวิตประจำวัน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ