28 มี.ค. 67 - สส.ลิณธิภรณ์ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถาม รมว.คลัง ห่วงปัญหาหนี้ กยศ. ที่ยังเรื้อรัง กระทบคนไทยกว่า 6 ล้านคน ด้าน รมช.คลัง เผย รัฐบาลเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้ เร่งแก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดชำระ

image

            นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้เรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) โดยต้องการทราบถึงหลักเกณฑ์การคำนวนหนี้สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการปรับแก้ไขระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ กยศ. ทั้งนี้ระบุว่าหนี้ กยศ. เป็นปัญหาที่เรื้อรังยาวนานส่งผลกระทบต่อคนไทยกว่า 6.4 ล้านคน และในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา หนี้ กยศ.ถือเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดหนี้เสียสูงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ดังนั้นมองว่าปัญหาหนี้ กยศ. เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไขให้สอดคล้องตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี ซึ่งลงนามในคำสั่งที่ 313/2566 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับแก้ไขปัญหาหนี้สินรายย่อย ที่มีนาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ 

          ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ตอบกระทู้ถามดังกล่าว ระบุถึงภาพรวมของหนี้ กยศ. ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ทั้งสิ้น 6.8 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 7.6 แสนล้านบาท โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 4.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้สามารถจำแนกกลุ่มลูกหนี้ของ กยศ. ได้ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1.8 ล้านคน กลุ่มที่เสียชีวิต และทุพพลภาพ 1 แสนคน กลุ่มที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน และกลุ่มที่ปลอดหนี้ 1.3 ล้านคน อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลนายเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการตรวจสอบประเด็น หนี้ กยศ. พบว่า กยศ.ยังไม่ได้ดำเนินการตามการปรับแก้ไขกฎหมายฉบับใหม่ นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับแก้ไขปัญหาหนี้สินรายย่อย และคณะกรรมการได้มีมติมุ่งแก้ปัญหาหนี้จาก ลูกหนี้ กยศ.เป็นลำดับแรก จึงเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการในหลายประเด็น อาทิ หลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ ตามกฎหมายฉบับใหม่ การประกาศปรับปรุงยอดหนี้ ออกระเบียบการชำระเงินคืน และประกาศแนวทางการงดบังคับคดีชั่วคราว และการถอนบังคับคดีให้กับผู้ค้ำประกันสำหรับผู้กู้ยืมที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและบังคับคดีแล้ว ภายหลังผู้กู้ยืมได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. 

         นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่าสิ่งที่รัฐบาลค้นพบและพยายามแก้ไขอยู่ขณะนี้ ได้แก่ การเร่งแก้ปัญหาหนี้คงค้าง 5.3 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 49 เป็นลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ คิดเป็น 2.1 ล้านคน วงเงิน 9.7 หมื่นล้านบาท จึงขอย้ำไปยังลูกหนี้ กยศ. ที่ผิดนัดชำระกลับคืนสู่การชำระหนี้ โดยปัจจุบันรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ขอขอบคุณรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่ออก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 แก้ไขอัตราดอกเบี้ยเหลือไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ปรับเกณฑ์เบี้ยปรับจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือ ร้อยละ 0.5 ต่อปี ตัดผู้ค้ำประกัน เปิดโอกาสให้มีการกู้เพื่อการศึกษาระยะสั้น และมีกลไกทุนการศึกษา ตลอดจนการหักเงินต้นก่อนการหักยอดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ เพื่อประโยชน์และลดภาระของลูกนี้ 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ