23 เม.ย. 67 - กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City และระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เทศบาลนครยะลา 

image

            นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสยาม หัตถสงเคราะห์ รองประธานกรรมาธิการฯ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด กรรมาธิการและที่ปรึกษาฯ นายกรุณพล เทียนสุวรรณ กรรมาธิการและที่ปรึกษาฯ นายพชร จันทรรวงทอง โฆษกกรรมาธิการฯ และคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเรื่อง Smart City และระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลนครยะลา ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมศรียรรยง เทศบาลนครยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
            โดย กมธ.ได้รับฟังข้อมูลการพัฒนา Smart City และระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ของเทศบาลนครยะลาที่ได้นำเอาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสารสนเทศมาใช้เพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เป้าหมาย นครยะลา เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน 
            ทั้งนี้ เทศบาลนครยะลาได้เริ่มต้นการยกระดับการพัฒนาเมืองครอบคลุมด้านสำคัญ 4 ด้านหลัก คือ 1.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ(Smart Living) มุ่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต ด้วยการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free WiFi) ครอบคลุมทุกมุมเมืองระบบกล้องวงจรปิด ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมือง (Urban Safety) ระบบเสาไฟอัจฉริยะ (Smart pole) บนฐานของการใช้นวัตกรรม loT (Internet of Things) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หรือส่งข้อมูลระหว่างกันด้วยอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มุ่งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม โดยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการเทศบาลนครยะลา เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นการรับเรื่องร้องเรียน การสื่อสารกับประชาชน การทำประชามติ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการรองรับภัยพิบัติ หรือโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึง 3.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) มุ่งพัฒนาจุดเด่นของเมืองยะลาด้านการเป็นเมืองสีเขียว ผังเมืองสวย มีมาตรฐานสากล และเมืองแห่งความสะอาดให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น มีการตรวจวัดและรายงานคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ ฯลฯ จัดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า หล่อเลี้ยงเมืองด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม และ 4.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) มุ่งใช้ต้นทุนอัตลักษณ์ในพื้นที่ และการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล และเสริมมูลค่าให้กับการตลาดการค้าการลงทุน และตลาดแรงงานในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาระบบ E-commerce ธุรกิจการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสในการขาย และสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดบริษัทจัดตั้งใหม่ (Startup)เข้ามาในเมือง

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ