28 มี.ค.67- กมธ.การต่างประเทศ สผ. เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหาแรงงานไทยทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยืนยันคัดค้านการส่งตัวเด็ก 19 คน กลับเมียนมาร์ ชี้อาจเป็นการละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก

image

        นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าวกรณีแรงงานไทยทำงานผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น และกรณีเด็ก 19 คน ถูกผลักดันกลับประเทศเมียนมาร์ ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีแรงงานไทยเข้าไปทำงานผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า "ผีน้อย" ซึ่งเกาหลีใต้มีแรงงานถูกกฎหมาย 40,000 คน มีแรงงานผิดกฎหมายประมาณ 140,000 คน และญี่ปุ่นมีแรงงานถูกกฎหมาย 8,000 คน และแรงงานผิดกฎหมายประมาณ 40,000 คน ซึ่งการทำงานผิดกฎหมายได้ส่งผลกระทบทั้งสวัสดิภาพของคนงานและภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนั้น คณะ กมธ.การต่างประเทศ ได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ผู้ตรวจข้าราชการ อธิบดีกรมการจัดงาน และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ มาให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะใน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในต่างประเทศนั้น ต้องให้แรงงานไทยมีตำแหน่งงานที่ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกปี 2. รัฐบาลควรเร่งเจรจากับทั้งทางการเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มโควต้าการทำงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีโควต้าเพียง 8,500 คน 3. ควรผลักดันการนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายที่ไม่มีสวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย โดย กมธ.การต่างประเทศเสนอให้รัฐบาลเจรจากับทางการเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพื่อนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายให้สามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ถูกส่งตัวกลับ และไม่มีประวัติการเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมทั้งให้ได้รับสวัสดิการด้านแรงงานที่เหมาะสม 4. จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าญี่ปุ่นอาจทบทวนการยกเลิกวีซ่าฟรีนั้นในขณะนี้มีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นปีละประมาณ 1 ล้านคน แต่มีผู้ที่อยู่เกินวีซ่าท่องเที่ยว (Over Stay) ประมาณ 10,000 คน ดังนั้น ไทยต้องเพิ่มมาตรการประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย พร้อมทั้งจับกุมนายหน้าหางานเถื่อน เพื่อลดจำนวนคนที่อยู่เกินวีซ่า และสร้างความมั่นใจให้กับประเทศปลายทาง

        นายนพดล กล่าวถึงกรณีเด็กไร้สัญชาติ 19 คน จ.เชียงราย ที่อาจถูกผลักดันกลับประเทศเมียนมาร์ ว่า กมธ.การต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยหากมีการผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับเมียนมาร์ เนื่องจากเด็กไม่ว่าจะมีหรือไร้สัญชาติอาจเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ระบุว่าให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้การสงเคราะห์เด็ก อีกทั้งอาจเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (UN Convention on the Right of the Child) ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเรื่องจุดมนุษยธรรมที่ อ.แม่สอด เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในเมียนมาร์ ถือเป็นการแสดงบทบาทของไทยอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค ดังนั้น หากมีการผลักดันเด็ก 19 คนกลับเมียนมาร์นั้น ถือเป็นการกระทำที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล และส่งผลกระทบต่อหลักการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ โดยการคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติถือเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของประเทศ และทำให้ไทยมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่างาม

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ