29 มี.ค. 67 - รัฐสภา ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และสำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สมาชิกและบุคลากรในวงงานรัฐสภา เตรียมรายการเอกสารสำหรับการยื่นบัญชีได้ครบถ้วนตามกฎหมาย สร้างความสุจริต โปร่งใส

image

             ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ภายใต้โครงการสร้างระบบนิติบัญญัติให้สุจริต โปร่งใส และยกระดับการตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาและบุคคลในวงงานรัฐสภาด้วยพลังพลเมือง ณ ห้องโถงกลาง ชั้น บี 1 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา และผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting โดยมี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง สมาชิกรัฐสภา บุคคลากรในวงงานรัฐสภา รองศาสตราจารย์ ดร. อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และพลตำรวจเอก วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วม 

            ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นเรื่องที่สำคัญกับสมาชิกรัฐสภาอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นหน้าที่เฉพาะตัว ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำ ซึ่งหากสมาชิกรัฐสภาจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งมีโทษทางอาญาตามกฎหมาย สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นแนวคิดการแสดงความบริสุทธิ์ใจของสมาชิกรัฐสภา ว่ามีกิจการทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใด เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ และเปิดเผยต่อประชาชนให้รับทราบ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือทรัพย์สินที่ไม่ควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินให้ประชาชนได้รับทราบ จึงเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าสมาชิกรัฐสภาและบุคลากรทางการเมืองจะไม่กระทำการใดอันเป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง ทั้งนี้เป็นไปตามสาระสำคัญของการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้กำหนดวิธีการ ระยะเวลา และขั้นตอนการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้

            ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่ากิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมไปถึงสร้างการตระหนักรู้ในความสำคัญและความจำเป็นของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและโปร่งใส และให้สามารถจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตลอดจนสามารถกรอกรายละเอียดในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันบุคคลในวงงานนิติบัญญัติซึ่งมีตำแหน่งเป็นนักการเมือง อาทิ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการ บุคคลในวงงานรัฐสภา ตลอดจนผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภานั้นมีจำนวนมาก ที่มาจากภาคเอกชนและไม่คุ้นเคยกับระบบราชการ ส่งผลให้ขาดความเข้าใจในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นข้อกำหนดสำคัญที่ต้องปฏิบัติทั้งก่อนการดำรงตำแหน่งและภายหลังการออกจากตำแหน่งจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจโดยละเอียด

          สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วยการปาฐกถาพิเศษเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กลไกในการสร้างความสุจริต โปร่งใส และยกระดับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยพลตำรวจเอก วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและการอภิปรายเรื่องกระบวนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยพันตำรวจตรี ชัชนพ ผดุงกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมกับ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ โฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติชอบ สภาผู้แทนราษฎร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ