29 มี.ค.67 - กมธ.การสวัสดิการสังคม สผ.ลงนาม MOU ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ สร้างเครือข่ายยกระดับการป้องกันภัยไซเบอร์แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง

image

            นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการในการขับเคลื่อนโครงการป้องกันภัยไซเบอร์แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ร่วมกับ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ /พลตำรวจตรี นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี/ นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
          โดย นายณัฐชา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ผู้สูงอายุมีจำนวนกว่า 12 ล้านคน ซึ่งการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางออนไลน์มากขึ้น และผู้สูงอายุมักมีความรู้ความเข้าใจ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จำกัด ประกอบกับอาชญากรรมทางออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลายและชับซ้อน ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของอาชญากรรมทางออนไลน์ได้ง่าย ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งเงินเก็บหรือเงินบำนาญในบั้นปลายชีวิต โดยบางรายตัดสินใจจบชีวิต บางรายมีปัญหาครอบครัว ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ กมธ.ฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ทุกภาคส่วนในสังคมควรต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างระบบสนับสนุน เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทัน และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น กมธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีเจตจำนงร่วมกันที่จะประสานความร่วมมือ สนับสนุน ส่งเสริม โครงการป้องกันภัยไชเบอร์แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางให้มีประสิทธิภาพ มุ่งหวังที่จะป้องกันผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และช่วยให้ผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจ
           ด้าน พลตำรวจตรี นิเวศน์ กล่าวว่า ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีเฉลี่ยปีละถึง 3 แสนคดี ก่อให้ความเสียหายทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างมาก ซึ่งเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะว่า อย่านำเงินจำนวนหลักล้านและบัตรเครดิตผูกไว้กับบัญชีธนาคารออนไลน์ (โมบายแบงก์กิ้ง) เพราะหลายคดี ที่เกิดความเสียหายเกิดจากมิจฉาชีพการปลอมหมายเลขโทรศัพท์ธนาคารหลอกลวงผู้เสียหาย ทำให้ผู้ถูกหลอกมีแนวโน้มเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่แท้จริง และที่สำคัญอย่ากดลิงก์ที่ส่งมากับ SMS ทันที ป้องกันมิจฉาชีพดูดเงินจากบัญชี รวมทั้งหากทำธุรกรรมการโอนเงิน ควรตรวจสอบปลายทางผู้รับโอนว่ามีตัวตน หรือไม่ ด้วยการโทรศัพท์ติดต่อกลับ หากไม่มีผู้รับสายให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง มีองค์ความรู้ พัฒนาให้กลายเป็นผู้แข็งแกร่งรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.go.th และสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441ศูนย์ AOC ตลอด 24 ชั่วโมง

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ