การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ภายหลังเสร็จสิ้นการสะท้อนปัญหาประชาชนผ่านการปรึกษาหารือ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และร่างอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน รวมจำนวน 5 ฉบับ ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระที่ 1 ต่อจากวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ประกอบด้วยร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ของนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ของนายปรีดา บุญเพลิง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)แบบบัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ของนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... ของนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน เป็นผู้เสนอ และร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ของนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายต่อที่ประชุมถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ว่า ร่างฉบับนี้พรรครวมไทยสร้างชาติมุ่งหวังให้สังคมกลับสู่สันติสุข ให้โอกาสคนที่เห็นต่างทางการเมืองได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้หวังร่างกฎหมายขึ้นเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อคนทุกกลุ่ม เพื่อให้โอกาสทุกคนเดินหน้าพัฒนาประเทศร่วมกัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา สังคมแตกแยกด้านความคิด มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่วันนี้ตนเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกัน คือ ถึงเวลาสร้างเสริมสังคมสันติสุข ให้มีความเข้มแข็ง และเชื่อว่าผู้ที่เคยโดนคดีทางการเมืองเป็นผู้มีความสามารถที่เรียกร้องเพื่อประเทศชาติ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ เพื่อสร้างเสริมสังคมให้เกิดความสันติสุข ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนี้คือประชาชนและประเทศชาติ จึงขอสมาชิกรวมพลังทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล ในการทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งประเทศ ทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม
ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ย้ำถึงความสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... ฉบับภาคประชาชน ว่าตนเข้าใจในความคิดแตกต่างของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีมีมูลเหตุจูงใจมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และควรได้รับการพิจารณาให้ได้รับการนิรโทษกรรมไม่ต่างจากคดีอื่นๆ การออกกฎหมายโดยเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มอย่างชัดเจน จึงไม่ใช่การสร้างสังคมสันติสุขอย่างแท้จริง
ด้านนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ย้ำจุดยืนพรรคในการผลักดันเสนอร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จะพบบทเรียนที่สามาถนำมาเป็นประโยชน์ในปัจจุบันได้ พรรคภูมิใจไทยไม่ต้องการเห็นกงล้อประวัติศาสตร์ทางการเมืองหมุนวนกลับไปจุดเดิม จึงพยายามหาทางออกสร้างสังคมสันติสุข โดยไม่สุดโต่งเกินไป และไม่กระทบคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยการเสนอร่างสร้างสังคมสันติสุขหรือการนิรโทษกรรม มี 4 เรื่องหลักที่จะไม่รวมอยู่ในร่างนี้ ได้แก่ การกระทำความผิดในฐานทุจริต ประพฤตมิชอบ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การกระทำผิดที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายถึงแก่ความตาย และการกระทำผิดต่อส่วนตัวหรือการกระทำผิดที่ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลใดที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตามการจะเดินหน้าต้องมั่นใจว่าจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แม้ตนเห็นใจ แต่ต้องยอมรับว่าในกลุ่มคนที่ถูกลงโทษมีจำนวนไม่น้อยที่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายและทำผิดซ้ำ ดังนั้น การนิรโทษกรรมคดี 112 จะเกิดความเห็นต่างในสังคม จนอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าความขัดแย้งในอนาคต จึงขอยืนยันว่าตนไม่ได้รังเกียจผู้กระทำผิดคดี 112 แต่หากเหมารวมคดี 112 สิ่งที่จะตามมาคือความไม่สงบในสังคม พรรคภูมิใจไทยจึงขอรับหลักการร่างที่ไม่ขัดกับร่างของพรรคภูมิใจไทย และขออภัยที่ไม่อาจสนับสนุนร่างที่อาจขัดหลักการและเหตุผลของพรรคได้ ด้วยไม่ต้องการให้เกิดความไม่สงบสุขรอบใหม่ในสังคมไทย เพราะสิ่งที่ต้องการเห็น คือ การนิรโทษกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่การยุติความขัดแย้งเดิม ไม่ใช่การสร้างความขัดแย้งใหม่
ขณะที่ นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน อภิปรายสรุปก่อนลงมติว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ตนขอตั้งคำถามว่า หากจะสร้างสันติสุข สลายความขัดแย้งแต่ทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ตนได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับ สส.ต่างพรรค เพื่อทำความเข้าใจและอธิบายถึงความตั้งใจของร่างที่เสนอโดยพรรคประชาชน และพรรคก้าวไกล เพื่อขอให้ สส.พิจารณาให้ความเห็นชอบ อย่างน้อยเพื่อให้ได้เข้าไปถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันในชั้น กมธ.แม้มีความหวังเพียงน้อยนิดมาก แต่ตนยังคงเดินหน้าเรื่องนี้เต็มที่ และแม้จะรู้ดีว่าแต่ละพรรคมีธงอะไรในใจ แต่ตนยังหวังลึกๆ ว่าร่าง 2 ฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบและผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ไปพร้อมกับร่างอื่นๆ พร้อมย้ำว่าร่างนิรโทษกรรมทั้ง 2 ฉบับของพรรคประชาชนและพรรคก้าวไกล ไม่มีส่วนใดที่ขัดหลักการร่างอื่นๆ และถือเป็นร่างที่ดีที่สุดในการนิรโทษกรรมโดยไม่แบ่งแยก จึงขอ สส.อย่าปิดประตูความหวังประชาชน ขอลงมติด้วยความกล้าหาญเพื่อผ่านร่างทั้ง 2 ฉบับด้วย
จากนั้น ประธานในที่ประชุมได้แจ้งให้สมาชิกลงมติ โดยเป็นการแยกลงมติในแต่ละร่าง ผลการลงมติปรากฎว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่างของพรรคกล้าธรรม และร่างของพรรคภูมิใจไทย พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 32 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้ใช้ร่างที่เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่ 2 ชั้นกรรมาธิการต่อไป ส่วนร่างที่เสนอโดย นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และร่างของนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชน ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา ทำให้ร่างเป็นอันตกไป
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง