นายเฉลิมพงศ์ แสงดี และนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดภูเก็ต พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวทวงถามความคืบหน้าในคดีพระใหญ่ และเหตุการณ์ดินโคลนถล่มเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 13 ราย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยจนถึงปัจจุบันคดียังไม่มีความชัดเจนหรือความคืบหน้าใด ๆ จากหน่วยงานรัฐ
โดย นายเฉลิมพงศ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากดินโคลนสไลด์ในช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังพักผ่อน ส่งผลให้บ้านเรือนจำนวนมากพังเสียหาย บางรายต้องสูญเสียชีวิต ขณะที่ผู้รอดชีวิตยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง ทั้งในด้านสิ่งปลูกสร้างและสภาพจิตใจ หลายครอบครัวยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ทั้งนี้ ตนขอยกตัวอย่างกรณีประชาชนรายหนึ่งที่ต้องจากบ้านเกิดมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในจังหวัดภูเก็ต แต่กลับต้องนำรายได้ไปซ่อมแซมบ้านที่พังเสียหายแทนที่จะเลี้ยงชีพ หรือคู่สมรสที่เพิ่งเข้าพิธีแต่ต้องถูกดินถล่มทับจนเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ควรถูกลืม ซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งนี้ อาจมาจากการก่อสร้างของมูลนิธิเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างพระใหญ่ ที่รุกล้ำพื้นที่ป่าไม้กว่า 5 ไร่ และก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางธรรมชาติและเป็นสาเหตุหนึ่งของดินถล่ม โดยไม่ควรปล่อยให้มีการนำพระพุทธศาสนามาใช้หากินในนามของมูลนิธิหรือบุคคลใด โดยที่ไม่มีการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจนถึงขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ขณะที่ประชาชนต้องหาเงินไปวางประกันศาลเพื่อต่อสู้กับคดี อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณสภาทนายความจังหวัดภูเก็ตที่เข้าช่วยเหลือประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นายเฉลิมพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า มีความพยายามจากผู้มีอำนาจบางราย รวมถึงพระชั้นผู้ใหญ่ ในการวิ่งเต้นขออนุญาตจากกรมศาสนาและกรมป่าไม้ เพื่อกลับมาเปิดดำเนินการพื้นที่พระใหญ่อีกครั้ง ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด และยังไม่มีผู้ใดรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยมีการบีบบังคับพระในพื้นที่ให้ลงชื่ออนุญาตให้ใช้พื้นที่ มีพระผู้ใหญ่บางรูปอยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่ใช่การปกป้องศาสนา แต่เป็นการนำศาสนาไปหาประโยชน์ จึงขอเรียกร้องให้สำนักงาน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของมูลนิธิดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อให้สังคมได้รับความกระจ่าง
ด้าน นายฐิติกันต์ กล่าวว่า ตนในฐานะโฆษกกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และพบว่า แม้จะมีการประชุมพิจารณาหลายครั้ง แต่การดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตใช้พื้นที่ป่ายังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่การขออนุญาตในช่วงแรกกระทำโดยวัด แต่ภายหลังกลับมีการโอนสิทธิ์ไปยังมูลนิธิเอกชน ซึ่งผิดระเบียบอย่างชัดเจน โดยการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดดินถล่ม แต่จนปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดออกมารับผิดชอบ หรือสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมวางมาตรการป้องกันภัยพิบัติในพื้นที่ และไม่ปล่อยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ในนามของพระพุทธศาสนาอีกต่อไป
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
