คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา จัดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ความมั่นคงกับอนาคตประเทศไทย” โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คณะอนุ กมธ.ด้านกิจการทหาร คณะอนุ กมธ.กิจการทางทหารด้านไซเบอร์ เทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คณะอนุ กมธ.กิจการทหารด้านความมั่นคงแบบองค์รวม ผู้แทนจากหน่วยงานความมั่นคง อาทิ กองทัพบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตลอดจนสื่อมวลชน และภาคประชาชนที่สนใจเข้าร่วม ณ ห้องประชุม หมายเลข 406 - 407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ฝั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
พลเอกสวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะ กมธ.การทหารและความมั่นงคงแห่งรัฐ กล่าวเปิดการเสวนา ว่า โลกปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งมิติรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และความมั่นคงของประเทศชาติ โดย กมธ.การทหารฯ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างรอบด้าน ทั้งการทบทวนพันธกรณีระหว่างประเทศ การสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การเตรียมความพร้อมรับมือกับคุกคามรูปแบบใหม่อย่างสมดุล (Hybrid Warfare) ต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อาทิ สงครามยูเครน สงครามในตะวันออกกลาง ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสถานการณ์แนวชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดเมื่อวันที่ 28 พ.ค.68 ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ และเมื่อวันที่ 1 ก.ค.68 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ด้วยเหตุผลดังกล่าว กมธ.การทหารฯ จึงจัดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ความมั่นคงกับอนาคตประเทศไทย” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการรับฟัง แลกเปลี่ยนแนวคิด และแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมที่ทำให้ประเทศไทยมีอนาคตที่มั่นคง พร้อมรับมือกับความท้าทายรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
จากนั้นเป็นการเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ อดีตอาจารย์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลหลายสมัย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์นโยบายและการเมือง ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิเคราะห์ประเด็นทางการเมือง
ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง กล่าวถึงความมั่นคงในองค์รวม ว่า ไม่ใช่เรื่องของทหารหรือกองทัพเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่พลเรือนต้องเข้ามามีบทบาทและมีความเข้าใจมากขึ้น ตัวอย่างบทบาทของ กมธ.การทหารฯ วุฒิสภา ที่แสดงความกล้าหาญในการยื่นตรวจสอบนายกรัฐมนตรีต่อศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของ กมธ. เป็น "เสาหลักความมั่นคงที่ค้ำยันและถ่วงดุล" เพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้ งานป้องกันประเทศและการบำรุงรักษากำลังรบไม่ใช่งานของทหารเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพลเรือนที่ต้องมีส่วนร่วม และกองทัพเองก็เปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายการเมืองมากขึ้น สำหรับความท้าทายหลักของความมั่นคงในอนาคตของประเทศไทย คือ ความมั่นคงตามแนวชายแดนทั่วประเทศ โดยความขัดแย้งมักเกิดในพื้นที่สัญลักษณ์หรือพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และเศรษฐกิจก็ถือเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่ง และความเข้มแข็งทางการเงิน คือ การป้องกันประเทศที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่การจับปืนเท่านั้น
ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวยืนยันว่า ความมั่นคงเป็น "องค์รวม" ไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ และไซเบอร์ ล้วนเป็นความมั่นคง ที่สำคัญสถานการณ์ปัจจุบัน "ไม่ปกติอย่างยิ่ง" และประชาคมนักวิชาการระหว่างประเทศมองว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ "มหาสงคราม" หรือ "สงครามโลกครั้งที่ 3" ในรูปแบบสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) ซึ่งใกล้กว่าที่คิด เห็นได้จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องความมั่นคงนับจากนี้จะเป็นการกำหนดอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์พื้นที่พิพาทชายแดน ไทย-กัมพูชา
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง