29 มี.ค.67 - ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นชอบความตกลงการค้าเสรี ไทย-ศรีลังกา ด้านรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ชี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายโอกาสให้สินค้าไทยส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ยืนยันไม่กระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ และรัฐบาลไทยสามารถออกมาตรการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้

image

        ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาความตกลงการค้าเสรีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Free Trade Agreement between the Kingdom of Thailand and the Democratic Socialist Republic of Sri Lanka) เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยนายภูมิธรรม  เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงถึงความเป็นมาของข้อตกลงดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.61 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่าง ไทยและศรีลังกา เป็นแบบกรอบกว้างครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และทั้งสองประเทศได้ประกาศเปิดการเจรจาเสรีการค้า (Free Trade Agreement: FTA) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 โดยในช่วงปี 2562 – 2565 การเจรจาได้หยุดชะงักลงชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์ภายในของศรีลังกา และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ไทย-ศรีลังกา ได้มีการประชุมเสรีการค้า จำนวน 9 ครั้ง และในการประชุมครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 18-20 ธ.ค.66 ทั้งสองประเทศสามารถสรุปผลการเจรจาจัดทำเสรีการค้าระหว่างกันได้ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงได้เสนอให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค.67 ครม.ได้มีมติเห็นชอบความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.67 ไทยและศรีลังกา ได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 15 ของไทย

        นายภูมิธรรม กล่าวถึงสาระสำคัญของความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ศรีลังกา ว่า ประกอบด้วย 14 บท และ 9 ภาคผนวก อาทิ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเยียวยาทางการค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความโปร่งใส การระงับข้อพิพาท และบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน ข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าสินค้าบริการ และการลงทุน สำหรับสาระสำคัญของความตกลงดังกล่าวมี 3 ประเด็นหลัก คือ การค้าสินค้ามีพื้นฐานอยู่บนความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) โดยกำหนดพันธกรณีที่ประเทศภาคีต้องปฏิบัติในการลดหรือยกเว้นอากรศุลกากรตามข้อผูกพัน การอำนวยความสะดวกทางการค้าตลอดจนให้มีความโปร่งใสและลดอุปสรรคทางการค้าจากการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศภาคี ทั้งนี้ การเปิดตลาดการค้าเสรีระหว่างไทย-ศรีลังกา มีระดับการเปิดเสรีการค้าที่เท่าเทียมกัน คือ ร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด โดยมีระยะเวลาลดหรือยกเว้นอากรเป็นเวลา 16 ปี นับแต่วันที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ โดยสินค้าร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมด จะยกเว้นภาษีทันทีที่นับแต่วันที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ การค้าบริการ มีพื้นฐานบนความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการภายใต้องค์การการค้าโลก โดยกำหนดพันธกรณีต่าง ๆ ที่ประเทศภาคีต้องปฏิบัติในการใช้บังคับทั้ง 4 รูปแบบการให้บริการ ได้แก่ การให้บริการข้ามพรหมแดน การบริโภคในต่างประเทศ การจัดตั้งธุรกิจ การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ไทยได้เปิดตลาดการค้าบริการอยู่ในระดับที่ไม่เกินกว่ากรอบของกฎหมายปัจจุบันและการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับอื่นที่ไทยเป็นภาคีและเป็นสาขาที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ บริการในสาขาโทรคมนาคม บริการในสาขาการท่องเที่ยว และบริการในสาขาการขนส่ง ทั้งนี้ ไทยเปิดตลาดให้ผู้ให้บริการจากศรีลังกา สามารถถือหุ้นในกิจการได้ถึงร้อยละ 70 ในบางสาขาย่อย อาทิ บริการวิจัยและพัฒนา บริการสาขาคอมพิวเตอร์ บริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ขณะที่ศรีลังกา เปิดตลาดให้ผู้ให้บริการจากไทยในระดับสูง โดยเปิดให้นักลงทุนไทยสามารถถือหุ้นได้ร้อยละ 100 ใน 50 สาขาย่อย อาทิ บริการวิจัยและพัฒนา บริการสาขาคอมพิวเตอร์ บริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ บริการโฆษณา บริการโรงแรมและร้านอาหาร บริการสิ่งแวดล้อม และบริการประกันภัย เป็นต้น ขณะที่การลงทุนครอบคลุม 4 เสาหลัก ได้แก่ การเปิดเสรี การส่งเสริม การอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองการลงทุน ไทยเปิดเสรีให้นักลงทุนศรีลังกาเข้ามาลงทุนในสาขาการผลิต สามารถถือหุ้นได้ ร้อยละ 100 จำนวน 30 สาขา อาทิ การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ ปลา ผลไม้และผัก ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ศรีลังกา เปิดให้นักลงทุนไทยลงทุนในสาขาการผลิต สามารถถือหุ้นได้ ร้อยละ 100 จำนวน 35 สาขา อาทิ การแปรรูปอาหาร สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

        นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า การเปิดเสรีการค้า ไทย-ศรีลังกา ได้สะท้อนบริบทและศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วนที่ได้ให้ความเห็นเพื่อจัดทำเป็นท่าทีการเจรจาของไทยทุกครั้ง ในภาพรวมพันธกรณีในความตกลงฉบับนี้มีความสอดคล้องกับกฎหมายของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่จะมีการออกประกาศกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ใน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าที่ผูกพันการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าฉบับนี้ 2. ประกาศ กรมศุลกากร และคำสั่งทั่วไป เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลง 3. ประกาศ กรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขและขั้นตอนในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าประกอบการส่งออกเพื่อใช้สิทธิทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ความตกลงฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 หลังจากคู่ภาคีแจ้งว่าได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศที่จำเป็นสำหรับการมีผลใช้บังคับตามความตกลงดังกล่าวแล้วเสร็จ โดยความตกลงการค้าฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดศรีลังกา และขยายโอกาสให้กับนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยจะทำให้สินค้าไทยได้แต้มต่อทางภาษีศุลกากรในการเข้าสู่ตลาดศรีลังกา ได้แก่ สัตว์มีชีวิต อาหารสัตว์ ยานยนต์ สิ่งทอ อัญมณี แหล่งแร่ ปุ๋ย เม็ดพลาสติก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และไทยจะมีแหล่งวัตถุดิบทางเลือกจากศรีลังกาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในภาคบริการในศรีลังกาได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งได้รับความคุ้มครองการลงทุนจากกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐได้อีกด้วย

        นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ความตกลงฉบับนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อไทย เนื่องจากไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปิดตลาดสินค้ากับศรีลังกา แต่ก็อาจมีสินค้าบางรายการนำเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่ศรีลังกามีศักยภาพในตลาดโลกนั้น คือ ชา และใบชาดำ ไทยยังคงสงวนสิทธิในการยกเว้นอากรสินค้าดังกล่าว ขณะที่ ตลาดสินค้าบริการอาจเกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทย-ศรีลังกาในบางกิจกรรม เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น และรัฐบาลไทยยังสามารถออกมาตรการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติเพื่อผู้ประกอบการภายในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคการบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. .... เพื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาในการตราเป็นกฎหมายต่อไป

        ทั้งนี้ ภายหลังจากสมาชิกรัฐสภา อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติเห็นชอบความตกลงการค้าเสรีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 580 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง และขอให้รัฐบาลดำเนินการตามกระบวนการตามความตกลงฯ ฉบับนี้ต่อไป

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ