19 เม.ย.67 - ประธานรัฐสภา ชี้ ทำประชามติ 3 รอบ ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ แม้เสียเวลา - งบประมาณ แต่เป็นแนวทางปลอดภัยสุด ย้ำ ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกรอบคำวินิจฉัยศาล รธน.และรัฐธรรมนูญกำหนด

image

         นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องของประธานรัฐสภาที่ส่งเรื่องตามมติเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาให้วินิจฉัยในกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องดังกล่าวนั้น เพราะเป็นปัญหายังไม่เกิดขึ้น และเป็นเพียงข้อสงสัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงชัดเจน แล้ว และยังส่งไทม์ไลน์เวลาการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนและรัฐสภาประกอบคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนด้วยว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐสภาสามารถแก้ไขได้แต่ต้องทำประชามติก่อน หากจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อนว่า ประชาชนเห็นด้วย หรือไม่ หรือจะแก้มาตรา 256 ที่มีบทกำหนด อาทิ เกี่ยวกับอำนาจศาล องค์กรอิสระ หรือบางข้อต้องนำไปทำประชามติก่อน จึงต้องปฏิบัติตาม ซึ่งสอดคล้องกับที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า รัฐบาลต้องดำเนินการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องถามประชาชน 3 รอบ ถึงจะปลอดภัย แต่เสียเวลาและงบประมาณ แต่หากทำ 2 รอบ อาจจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ การดำเนินการทุกอย่างมีกรอบคำวินิจฉัยและรัฐธรรมนูญกำหนด และศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ไทม์ไลน์เส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญต้องดำเนินการอะไรก่อนหลัง หากทำโดยไม่ตรงกับคำวินิจฉัยจะเสียเวลา ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตก หากมีเวลาทำให้ดีที่สุด เพราะประชาชนอยากให้แก้ไขเรื่องนี้ รวมทั้งเป็นนโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค จึงต้องทำให้ถูกต้อง อาจจะไม่พอใจ แต่ต้องเลือกเส้นทางที่เดินไปได้ หากไม่ทำประชามติก่อน แล้วส่งไปตีความอีกจะเสียเวลา
              ต่อข้อถามถึงข้อเสนอให้ทบทวนการบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เสนอต่อรัฐสภา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ต้องมีผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามา หากเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องทำประชามติ ต้องทำประชามติก่อน แต่หากมีเนื้อหาที่ไม่ต้องทำประชามติก่อนก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนร่างที่เสนอมาก่อนหน้านี้นั้นเป็นร่างที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ซึ่งเคยตีตกแล้ว แต่สามารถเสนอกลับมาใหม่ได้ เพราะเป็นคนละสมัยประชุม อาทิ กรณีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 หากมีพรรคการเมืองใดเสนอร่างแก้ไขมา สภาฯ ต้องพิจารณาว่าบรรจุได้ หรือไม่ ส่วนจะบรรจุหรือไม่ ตนไม่สามารถพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่าเป็นร่างที่เหมือนเดิม หรือร่างที่ปรับปรุง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และต้องให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณา ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ