16 เม.ย.67 - กมธ.การศึกษาฯ สผ. แนะ แนวทางการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ต้องกำหนดบทบาทโครงสร้างในพื้นที่ให้เหมาะสม เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ของโลก ด้าน ศธ.ชี้ ควรนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่ตกไป กลับมาพิจารณาใหม่ มุ่งส่งเสริมมาตรฐานการผลิตครู – สวัสดิภาพครู พร้อมเน้นการกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น

image

           การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยได้สอบถามถึงรูปแบบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ต้องการ และแนวทางภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสภาวการณ์ของโลกในศตวรรษที่ 23 จะส่งผลและมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน อย่างไร               

            โดย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความเห็นว่า ควรนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ตกไปเมื่อสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วกลับมาพิจารณาใหม่ โดยควรส่งเสริมการกำหนดกรอบมาตรฐานในการผลิตครู และการให้สวัสดิภาพครู อาทิโครงการ "ครูคืนถิ่น" เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้มีบทบาทในเรื่องการสะสมเครดิตแบงก์ เพื่อเทียบโอนประสบการณ์การทำงาน และนำมาวัดระดับ เพื่อจะได้วุฒิบัตรการศึกษา ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดทางการศึกษาหรือการประกอบอาชีพได้ และควรให้ศึกษานิเทศก์มีความเป็นอิสระ เพื่อสามารถกำกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ด้วย

            เช่นเดียวกับ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เห็นว่า ควรนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ตกไปเมื่อสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วกลับมาพิจารณาใหม่ โดยกำหนดเป็นกฎหมายแม่บท และมีฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับ อาทิพ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดการวางโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ และเพิ่มการให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาแบบทวิภาคี ด้วยการเพิ่มสถานประกอบการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเทียบโอนวัดระดับการศึกษาโดยการสะสมเครดิตแบงก์

            ด้าน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน มีความเห็นว่า คุณภาพการศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเป็นหลักต้องมีกระบวนการในการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความเหมาะสม ขณะที่บทบาทหน้าที่การบริหารของส่วนกลางควรลดลงและกระจายอำนาจไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือโรงเรียนให้มากขึ้น อาทิ การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล และควรให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการกำหนดกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา

            ส่วน เลขาธิการสภาการศึกษา มีความเห็นว่า โครงสร้างการจัดการศึกษายังมีความซ้ำซ้อนในการจัดการเชิงพื้นที่ โดยควรลดบทบาทการบริหารของส่วนกลาง และกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น

            ภายหลังการพิจารณา ประธาน กมธ.ได้กล่าวสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....จะเป็นกฎหมายแม่บทและจะต้องกำหนดบทบาทของโครงสร้างในพื้นที่ให้เหมาะสม รวมทั้งต้องกำหนดทิศทางให้มีความเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ของโลกในอนาคตด้วย

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การศึกษาฯ สผ.ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ