15 เม.ย. 67 - สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. .... ปรับเกณฑ์อายุผู้ชม ยกเลิกบทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยทัดเทียมนานาอารยประเทศ

 

image

            สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาพยนตร์ พ.ศ. .... เสนอโดยนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ ร่างดังกล่าวเป็นร่างการเงิน โดยเป็นการเสนอยกเลิกกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฉบับปัจจุบัน(พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551) และบัญญัติกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์ฉบับใหม่ เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งมีการจำกัดเสรีภาพเกินสมควร จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย ไม่สามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ 
            สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. .... คือการเปลี่ยนแปลงให้มีภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาครัฐได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่บางประการของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์แห่งชาติ และการยกเลิกการกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ รวมถึงการปรับเกณฑ์อายุผู้ชมภาพยนตร์เพื่อลดอำนาจการควบคุมจากภาครัฐ ตลอดจนการปรับมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก การยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการวีดิทัศน์ซึ่งหมดความจำเป็นในปัจจุบัน และการยกเลิกโทษทางอาญาโดยให้ใช้มาตรการปรับทางพินัยแทน เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม และสนับสนุนเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ได้กว้างขวางมากขึ้น
            สำหรับประเด็นเปิดรับฟังความเห็น อาทิ เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติให้มีภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่บางประการของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์แห่งชาติ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร การประกอบกิจการภาพยนตร์ การนำภาพยนตร์ออกเผยแพร่ ระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และกำหนดประเภท เพื่อลดอำนาจการควบคุมจากภาครัฐ เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกอบกิจการวีดิทัศน์ซึ่งหมดความจำเป็นในปัจจุบัน และเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการภาพยนตร์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีสภาพปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร
           ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. ....  ได้จนถึงวันที่ 1 พ.ค.  67 ทางเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th หัวข้อการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ