29 มี.ค.67 - มติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นชอบส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ชี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 และจำนวนครั้งในการทำประชามติ หวังนำไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ราบรื่น

image

        ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) โดยมี รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กับคณะ สส. 108 คนเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ เนื่องจากตน และ สส. 123 คน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 (1) และ (2) เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ม.ค.67 โดยมีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อมาวันที่ 9 ก.พ.67 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่าประธานรัฐสภาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการในการเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ ตามนัยคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ลงวันที่ 11 ม.ค.64 ประกอบกับประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 119 นั้นจะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้

        รศ.ชูศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ตนและคณะได้เสนอญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (2) ถึง (8) นั้น เท่ากับประธานรัฐสภาเห็นว่ารัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวแต่ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (2) และการเสนอญัตติของตนและคณะก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จึงชอบที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาและรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่ได้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีหลักการในการเพิ่มเติมหมวด 15/1การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้ ตนและสมาชิกรัฐสภา จึงขอเสนอญัตตินี้ เพื่อขอให้รัฐสภามีมติว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่ และหากรัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แล้ว การจัดให้ประชาชนมีการออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสามแล้ว โดยสอบถามไปพร้อมกับกรณีตามมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้จะต้องสอบถามขั้นตอนในขั้นตอนใด

        นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายว่า ตนเห็นว่าการตัดสินใจของประธานรัฐสภา ที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่สวนทางกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ดังนั้น หลังจากที่ได้รับทราบการอภิปรายในวันนี้ ประธานรัฐสภา จะทบทวนการตัดสินใจ และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม

        นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพื่อให้สิ้นสงสัยว่าตามกระบวนการจะต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือทำประชามติหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนก็ไม่ติดใจ ซึ่งหัวใจสำคัญไม่ใช่เรื่องการทำประชามติ แต่เป็นเรื่องวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ หากศาลวินิจฉัยว่าไม่ต้องทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้กว่า 3,000 ล้านบาท แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ สามารถทำเป็นรายมาตราได้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังมีมาตราที่ดีและมีความสำคัญอีกจำนวนมาก และผ่านการทำประชามติจากประชาชนมาแล้ว

        พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายว่า ปัญหาข้อขัดแย้งนี้เป็นของประธานรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้เข้ามาสู่รัฐสภา ต่างจากในปี 2564 ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม หากรัฐสภาผ่านเรื่องนี้ไปอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะหากประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่บรรจุเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมก็จะเกิดความขัดแย้งและต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมอีก ซึ่งจะขัดกับมาตรา 156 ของรัฐธรรมนูญ ในการใช้อำนาจใดบรรจุเรื่องเข้ามา ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับคณะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากมีการทำประชามติไปแล้วหลายครั้งต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก หากไม่ผ่านในวาระแรกก็จะสูญเปล่า  

        นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังมีประเด็นที่ประชาชนมีข้อกังวล คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะกระทบต่อสถาบันหลักของชาติหรือไม่ ทั้งนี้ มาตรา 255 ระบุว่าไม่สามารถแก้ไขการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่มาตรา 256 ระบุให้ปรับปรุงเป็นรายมาตราได้ และสามารถทำประชามติเป็นครั้ง ๆ ไป

        นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับญัตติของ รศ.ชูศักดิ์ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ตนมั่นใจว่าหากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะทำให้ได้รับคำตอบที่ชัดเจนขึ้น ไม่เกิดปัญหาการตีความที่แตกต่างกัน และไม่นำไปสู่การเตะถ่วงหรือล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

        นายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายว่า ตนอยากให้รัฐสภามีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะทำได้ยาก ตนมีข้อสังเกตว่า เหตุใดรัฐสภาจึงไม่มีอำนาจตีความหน้าที่และอำนาจของตนเอง ต้องอาศัยการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ตนเห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา

        นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายว่า ตนเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะที่มาขององค์กรอิสระ ที่ภาคประชาชนแทบไม่มีโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่ง เช่นเดียวกับ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ตนเห็นว่าควรแก้ไข แต่การได้มาซึ่ง สว. ชุดต่อไป ก็ต้องใช้กระบวนการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ดำเนินการไปก่อน นอกจากนี้ การติดตามการเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศซึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญระบุว่าให้เป็นหน้าที่ของ สว. แต่การขับเคลื่อนยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนการทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจต้องทำถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกก่อนแก้ ครั้งที่ 2 ตามมาตรา 256 ครั้งที่ 3 เมื่อแก้เสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติสอบถามจากประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 และปีฉบับ พ.ศ. 2560 ทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และถ้าต้องเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ต้องใช้งบประมาณอีกเกือบ 3,000 ล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่าทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว และเห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจน และได้ข้อยุติ ส่วนศาลจะรับวินิจฉัยหรือไม่ ก็ถือว่าสมาชิกรัฐสภากระทำการโดยชอบแล้ว

        ประธานรัฐสภา กล่าวชี้แจงประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายว่าเหตุใดประธาน รัฐสภาไม่เห็นด้วยกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่ รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ว่า เนื่องจากเป็นการแก้ไขในทำนองเดียวกันกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรจุกฎหมายดังกล่าวได้ ประกอบกับตามมติความเห็นของคณะกรรมการประสานงานได้เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาวินิจฉัยการบรรจุกฎหมายของสภา ได้วินิจฉัยในเบื้องต้นและมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ เสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรจะบรรจุได้ และเสียงข้างมากเห็นว่าไม่ควรบรรจุเพราะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกัน ดังนั้น นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา จึงไม่บรรจุ ดังนั้น เพื่อความรอบคอบถึงแม้จะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกัน แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการจึงมีการประชุมใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเสียงข้างมาก มีความเห็นเป็นไปตามที่สมาชิกรัฐสภาได้กล่าวไว้ว่าจะมีความขัดแย้ง และคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ดังนั้น คณะกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถบรรจุได้เช่นกัน

        ภายหลังจากสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติเห็นชอบ ขอเสนอญัตติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 233 เสียง ไม่เห็นด้วย 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ